Abstract:
ในสังคมไทยเราถือว่าครูเป็นผู้มีความรู้ความสามรถเป็นผู้นำของเยาวชนที่จะต้องรับผิดชอบต่ออนาคตของชาติไทยและเป็นผู้ที่จะต้องถ่ายทอดวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยไปให้แก่เด็กเหล่านี้แต่ขณะนี้ยังไม่มีผลงานการวิจัยใดที่จะมาอธิบายว่าครูไทยส่วนใหญ่มีทัศนคติทางการเมืองสอดคล้องกับการปกครองแบบประชาธิปไตยหรือไม่ความรู้เหล่านี้จะมีความสำคัญต่อการพัฒนาทางการเมืองไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยในประเทศไทย ระเบียบวิธีในการวิจัยเราใช้การเก็บข้อมูลทั้งจากสนามและจากเอกสารต่างๆ ข้อมูลจากสนามเก็บจากครู ๔๑๙ คน ซึ่งตอบแบบสอบถามได้สมบูรณ์จากการสุ่มตัวอย่างครู ๖๔๐ คน ในโรงเรียนรัฐบาลระดับมัธยม ๑๖ แห่งและโรงเรียนราษฎร์ระดับมัธยม ๑๖ แห่งในเขตกรุงเทพมหานคร แบบสอบถามมีทั้งหมด ๖๘ ข้อแต่ละข้อได้รับการทำ Internal Consistency Test มาแล้ว เป็นคำถามแบบเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยทั้งสิ้นมีตัวแปรตามคือการมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยและแบบเผด็จการส่วนตัวแปรอิสระคือประเภทของโรงเรียน ระดับการศึกษาและเพศ จากการวิจัยค้นพบว่าครูไทยส่วนใหญ่มีทั้งวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยและแบบเผด็จการในระดับปานกลางซึ่งเป็นการขัดแย้งทางวัฒนธรรมทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัดนอกจากนั้นครูในโรงเรียนรัฐบาลและราษฎร์ที่มีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยและแบบเผด็จการยังมีจำนวนใกล้เคียงกันและยังค้นพบว่าระดับของการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญต่อการมีวัฒนธรรมทางการเมืองทั้งแบบประชาธิปไตยและแบบเผด็จการแต่ไม่สำคัญมากนักรวมทั้งเพศก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อการมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยแต่ไม่มากนักในทำนองกลับกันเพศไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญต่อการมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบเผด็จการ