Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้ เป็นการศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนจากการปลูกมะละกอในจังหวัดราชบุรี ข้อมูลที่ ใช้ในการศึกษา เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ได้จากการสำรวจการปลูกมะละกอปีการเพาะปลูก 2527/ 2528 ด้วยวิธีการสัมภาษณ์จากชาวสวนจำนวน 77 ราย ในอำเภอดำเนินสะดวก และอำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี โดยแบ่งขนาดเนื้อที่เพาะปลูกมะละกอออกเป็น 3 ขนาด คือ 1-9 ไร่ 10-19 ไร่ และมากกว่า 20 ไร่ การวิเคราะห์หาผลตอบแทนจากการปลูกมะละกอใช้อัตราผลตอบแทนจากค่าขาย อัตราผลตอบแทนต่อต้นทุนการปลูก กำไรที่เป็นเงินสด และการวิเคราะห์จุดคุ้มทุน ผลจากการศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนจากการปลูกมะละกอดิบและมะละกอสุก ในเนื้อที่เพาะปลูก เฉลี่ยแต่ละขนาด พบว่าการปลูกมะละกอดิบขนาดเนื้อที่เพาะปลูกมากกว่า 20 ไร่ และการปลูกมะละกอสุก ขนาดเนื้อที่เพาะปลูก 10 -19 ไร่ ให้ผลตอบแทนจากการปลูกสูงกว่าเนื้อที่เพาะปลูกขนาดอื่น การเปรียบเทียบการปลูกมะละกอดิบและมะละกอสุกในเนื้อที่เพาะปลูกเฉลี่ยทุกขนาด พบว่าการปลูกมะละกอดิบให้ผลตอบแทนสูงกว่าการปลูกมะละกอสุก เพราะการปลูกมะละกอดิบให้ผลผลิตมากกว่าปลูกมะละกอสุกประมาณ 2.97 เท่า ปัญหาสำคัญชาวสวนประสบ คือ 1.ความอุดมสมบูรณ์ในดินเสื่อมสภาพลง เนื่องจากทำการเพาะปลูกมะละกอซ้ำที่เดิมติดต่อกัน 2.ชาวสวนผู้ปลูกมะละกอขาดความรู้ที่จำเป็นเกี่ยวกับการเพาะปลูกและการตลาด ดังนั้นในอนาคตรัฐบาลควรช่วยเหลือชาวสวนในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตลอดจนแนะนำวิธีการที่ดีสำหรับการปลูกมะละกอให้มีประสิทธิภาพ วิธีการดูแลรักษาและอื่น ๆ นอกจากนั้นรัฐบาลควรสนับสนุนและเผยแพร่เทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการเก็บรักษาและการบรรจุหีบห่อมะละกออีกด้วย