Abstract:
วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะความเป็นภาษาพูดในโฆษณาทางสื่อสิ่งพิมพ์ไทยใน พ.ศ.2479 และ พ.ศ.2539 การวิจัยใช้ตัวอย่างข้อความโฆษณาด้วยการล่มอย่างมี ระบบเป็นจำนวน 480 ข้อความโดยเป็นจำนวนตัวอย่างข้อความโฆษณายุคละ 240 ข้อความ ผลการศึกษาพบว่าใน พ.ศ.2479 และใน พ.ศ.2539 มีการใช้ลักษณะความเป็นภาษาพูด 6 ลักษณะได้แก่ ความไม่ชัดเจน ความไม่สมบูรณ์ อัตราการเบนเบี่ยงสูง การแสดงอารมณ์และความรู้สึก การซํ้า และการเร้าปฏิสัมพันธ์ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบลักษณะความเป็นภาษาพูดทั้ง 6 ลักษณะพบว่ามีความแตกต่างกันทางด้านสัดส่วนในการใช้และรายละเอียดรูปภาษาที่แสดงลักษณะดังกล่าว ลักษณะความเป็นภาษาพูดเรื่องการซ้ำ และความไม่สมบูรณ์ เป็นลักษณะที่ปรากฏโดดเด่นทั้ง 2 ยุค อย่างไรก็ตามลักษณะการซํ้าปรากฏเป็นจำนวนที่สูงที่สุด (34.9%) ใน พ.ศ. 2479 ในขณะที่ลักษณะความไม่สมบูรณ์ปรากฏเป็นจำนวนที่สูงที่สุด (47.4%) ใน พ.ศ. 2539 นอกจากนี้ลักษณะการเร้าปฏิสัมพันธ์เป็นอีกลักษณะหนึ่งที่ปรากฏเป็นจำนวนสูง (20.7%) ใน พ.ศ. 2479 โดยลักษณะนี้แสดงด้วยรูปประโยคคำถามและการสั่งในแบบต่าง ๆ เช่น ประโยคคำสั่ง ประโยคขอร้อง ประโยคแนะนำ เป็นต้น ลักษณะดังกล่าวนี้ปรากฏน้อย (9%)ในตัวอย่างข้อความโฆษณา พ.ศ.2539 รายละเอียดของรูปภาษาที่แสดงลักษณะความเป็นภาษาพูดในข้อความโฆษณา พ.ศ.2539 ปรากฏเป็นจำนวนที่หลากหลาย รูปภาษาที่ไม่ปรากฏในตัวอย่างข้อความโฆษณาใน พ.ศ.2479 ได้แก่ การซํ้าคำแบบเน้นยํ้าซึ่งเป็นรูปหนึ่งของลักษณะการซ้ำ การใช้คำแสลงและคำเลียนเสียงธรรมชาติซึ่งเป็นรูปหนึ่งของลักษณะการแสดงอารมณ์และความรู้สึก การใช้ความเบนเบี่ยงทางด้านการสะกดคำในทุกแบบซึ่งเป็นรูปแสดงของลักษณะความเบนเบี่ยงสูง และการใช้คำย่อซึ่งเป็นรูปแสดงของลักษณะความไม่ชัดเจน รูปภาษาที่ไม่ได้ปรากฏตัวอย่างในข้อความโฆษณา พ.ศ.2539 พบเพียงรูปภาษาเดียว ได้แก่ ประโยคขอร้องซึ่งแสดงลักษณะการเร้าปฏิสัมพันธ์