Abstract:
งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาการสื่อสารเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมทางสังคมผ่านการเล่าเรื่องของคนต้นแบบ (2) เพื่อศึกษาการสื่อสารของชุมชนแห่งการเรียนรู้ในเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมทางสังคม (3) เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ทางการสื่อสาร ปัจจัยทางจิตวิทยาสังคมที่เป็นสาเหตุและอุปสรรคของการมีวิถีชีวิตออร์แกนิกเพื่อเสนอแบบจำลองเชิงแนวคิด (Conceptual model) ทางการสื่อสารสำหรับการขับเคลื่อนนวัตกรรมทางสังคมอย่างยั่งยืนผ่านการเล่าเรื่อง ผลการวิจัยพบว่า (1) ความแตกต่างของพื้นฐานคนต้นแบบวิถีชีวิตออร์แกนิกทำให้เกิดการขับเคลื่อนที่หลากหลาย แต่อยู่บนพื้นฐานวิธีคิดเพื่อการใช้ชีวิตในแนวทางที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุลเหมือนกัน (2) มิติความหมายวิถีชีวิตออร์แกนิกของคนต้นแบบมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนมากไปกว่าแนวคิดเกษตรออร์แกนิก (3) ลักษณะการสื่อสารเพื่อขับเคลื่อนวิถีขีวิตออร์แกนิกของเครือข่ายมีลักษณะเป็นการร่วมออกแบบบนพื้นฐานความหลากหลายของสมาชิก ทำให้เกิดวิธีการใหม่ๆ บนพลังของความร่วมมือ (4) แบบจำลองเชิงสาเหตุของการมีวิถีชีวิตออร์แกนิกของคนในเครือข่าย พบว่า ความน่าเชื่อถือของคนต้นแบบเป็นสาเหตุประแรกที่ส่งผลไปยังสาเหตุอื่นๆ เพื่อให้เกิดการใช้วิถีชีวิตออร์แกนิกในชีวิตประจำวัน งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า วิถีชีวิตออร์แกนิกซึ่งเป็นนวัตกรรมสังคมตั้งอยู่บนรากฐานวิธีคิดของการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุล สามารถนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและไปถึงระดับความเป็นสาธารณะ (The Common) ได้ หากให้คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเพราะผู้ฟังเรื่องเล่าสามารถกลายมาเป็นผู้เล่าเรื่องได้เอง แต่อย่างไรก็ตาม การสื่อสารเพื่อขับเคลื่อนวิถีชีวิตออร์แกนิกจะต้องสื่อสารไปถึงระดับฐานรากวิธีคิดแม้ว่าความหลากหลายของคนในสังคมจะทำให้เกิดความแตกต่างของหนทาง (Output) แต่ผลลัพธ์ (Outcome) จะต้องสอดคล้องกับการอยู่ร่วมกับธรรมชาติเพื่อความเป็นสาธารณะเหมือนกัน