Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาองค์ประกอบของตัวละครที่แสดงความเป็นตลาดในการแสดงละครรำ และกลวิธีการแสดงความเป็นตลาดในการแสดงละครรำ ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงผสมผสาน (Mixed Method Research) (มุ่งเน้นการวิเคราะห์ข้อมูลเอกสารทางวิชาการ ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ภาพถ่ายและสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การสังเกตการณ์ การฝึกปฏิบัติ การสนทนากลุ่มย่อย ประกอบประสบการของผู้วิจัย) สรุปผลการวิจัยด้วยรูปแบบพรรณนาวิเคราะห์ โดยศึกษาเฉพาะตัวละครที่มีบทบาทความเป็นตลาดในการแสดงละครรำในรายการศรีสุขนาฎกรรมของกรมศิลปากร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518-พ.ศ. 2559 (30 กันยายน 2559) ผลการวิจัย พบว่า ความเป็นตลาดเป็นการแสดงพฤติกรรมไม่สำรวมด้วยอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด คำพูดและกิริยาท่าทางของตัวละครที่เป็นตัวแทนมนุษย์ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่มีอยู่ในทุกตัวละคร องค์ประกอบของตัวละครที่แสดงความเป็นตลาดประกอบด้วย 4 ปัจจัยได้แก่ 1) ความขัดแย้งของตัวละคร 2) พื้นฐานของตัวละคร 3) สถานการณ์ของตัวละคร และ 4) เพลงที่แสดงความเป็นตลาดของตัวละคร กลวิธีการแสดงความเป็นตลาด มี 2 กลวิธีได้แก่ 1) การสวมวิญญาณความเป็นตลาดในการแสดงละครรำ 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตีความบทบาทและอารมณ์ของตัวละคร และขั้นตีบทประกอบลีลาท่ารำและอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร 2) กลวิธีการแสดงความเป็นตลาดในการแสดงละครรำ มี 2 กลวิธีได้แก่ กลวิธีได้แก่ กลวิธีการแสดงความเป็นตลาดตามขนบละครรำของกรมศิลปากร (จารีตละครหลวง) 2 รูปแบบ คือ รูปแบบละครจารีตและรูปแบบละครตลาด และกลวิธีการแสดงความเป็นตลาดนอกขนบละครรำของกรมศิลปากร (นอกจารีตละครหลวง) ที่ปรากฎเฉพาะในการแสดงละครนอก 2 ประเภท คือ การเพิ่มเติมและการเปลี่ยนแปลงกระบวนการแสดงความเป็นตลาด ความเป็นตลาดเป็นสิ่งที่มีอยู่ในอุปนิสัยของมนุษย์ทุกระดับชั้น โดยมีกรอบมารยาททางสังคมเป็นแบบแผนให้ยึดถือปฏิบัติหรือเป็นเครื่องกลั่นกรอง หากมีสถานการณ์มากดดันอารมณ์ให้เกิดความรู้สึกรัก โลภ โกรธ หลง ก็จะส่งผลให้มนุษย์มีปฏิกิริยาทางอารมณ์และแสดงพฤติกรรมโต้ตอบอย่างหนึ่งอย่างใด แต่เมื่อความเป็นตลาดปรากฏเป็นบุคลิกลักษณะ อารมณ์และความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร ตัวละครก็ย่อมแสดงพฤติกรรมเช่นเดียวกับมนุษย์ หากแต่แสดงให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผนทางการแสดงละครแต่ละประเภทอย่างเคร่งครัด ความเป็นตลาดในละครรำเป็นงานวิจัยที่ค้นพบองค์ความรู้ใหม่หรืองานวิจัยเริ่มแรก (Original research) ที่ยังไม่มีผู้ใดได้ทำการศึกษาไว้ก่อนแล้ว (Knowledge gaps) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการและวิชาชีพนาฏยศิลป์ไทย โดยเฉพาะการ แสดงละครรำและประยุกต์ใช้กับละครประเภทอื่น ๆ ด้วย