Abstract:
การศึกษาสถานภาพของงานนาฏกรรมในรัชกาลที่ 3 เป็นการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ที่มุ่งศึกษาปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงงานนาฏกรรม โดยมุ่งที่จะศึกษาประวัติศาสตร์นาฏกรรมในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่าง พ.ศ. 2367 – 2394 โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยผสมผสาน ที่ได้รวบรวมและค้นคว้าเอกสารชั้นต้นและชั้นรอง และหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ประเภทจิตรกรรมและประติมากรรม ผลการวิจัยพบว่างานนาฏกรรมในรัชกาลที่ 3 ยังคงปรากฏอยู่ในราชสำนักและนอกราชสำนัก มีหน้าที่ตอบสนองความต้องการของสังคมในเชิงพิธีกรรมและความบันเทิง แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ใส่พระราชหฤทัยและให้ความสำคัญเรื่องงานนาฏกรรมมากนัก แต่กลับทำให้รูปแบบนาฏกรรมของหลวงเผยแพร่ไปสู่วังของเจ้านายและเรือนของขุนนาง จนทำให้มีการละเมิดธรรมเนียมราชสำนักเรื่องการมีละครหรือมโหรีผู้หญิงประดับเกียรติยศ นอกจากนี้ปัจจัยจากสภาพสังคม เช่น ระบบเศรษฐกิจ ระบบไพร่ การขยายตัวของพระนคร ความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา เป็นผลให้นาฏกรรมกระจายตัวโดยแพร่หลาย ประชากรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจนสามารถใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงและการพนันได้ ปรากฏพิกัดการกระจายตัวของนาฏกรรมทั่วไปในพระนคร เมืองประเทศราชและหัวเมืองสำคัญ โดยเฉพาะวัดที่สร้างและปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ 3 มากกว่า 53 วัด เป็นแหล่งที่ต้องใช้นาฏกรรมเป็นมหรสพสมโภชเมื่อเฉลิมฉลองและวันสำคัญทางศาสนา รูปแบบและวิธีแสดงนาฏกรรมที่ประกอบด้วยบริบทต่าง ๆ ยังคงแสดงตามแบบจารีตดั้งเดิม แต่ส่วนที่แปรเปลี่ยนจากเดิมคือกลุ่มนายทุน กลุ่มการจัดการ กลุ่มนักแสดง และกลุ่มผู้ชม การที่นาฏกรรมยังคงมีกลุ่มผู้จัดแสดงอย่างต่อเนื่องทำให้ งานนาฏกรรมได้รับการสืบทอดจวบจนปัจจุบัน นาฏกรรมในรัชกาลที่ 3 จึงเป็นวิถีทางหนึ่งที่ช่วยอนุรักษ์งานนาฏกรรมให้มีการต่อยอดและสร้างสรรค์งานที่หลากหลายได้เพิ่มมากขึ้นอย่างมีคุณภาพตราบจนทุกวันนี้