Abstract:
ตามข้อตกลงแกตต์รอบอุรุกวัยนั้น ญี่ปุ่นจะต้องเริ่มเปิดตลาดข้าว มีผลให้ประเทศไทย สหรัฐอเมริกา จีน และออสเตรเลีย ได้เริ่มเตรียมการที่จะผลิตข้าวพันธุ์ญี่ปุ่น และต้องการที่จะส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น ในภาคเหนือของไทย การปลูกข้าวพันธุ์ญี่ปุ่นเพื่อส่งออกได้ขยายตัวออกไปตามหมู่บ้านบางแห่ง ซึ่งแต่เดิมเคยปลูกแต่ข้าวเหนียวเป็นหลัก ในหมู่บ้านเหล่านี้ ประสิทธิภาพการผลิตข้าวได้เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทางด้านสถาบันและสถานะเชิงเศรษฐกิจ สังคม การศึกษานี้ได้ทำการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงการผลิตข้าวพันธุ์ญี่ปุ่นในประเทศไทย โดยใช้วิธีการทางด้านปริมาณวิเคราะห์เพื่อกำหนดผลของประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยการผลิต และการเปลี่ยนแปลงการใช้ปัจจัยการผลิต โดยทำการศึกษากรณีวิเคราะห์เพื่ออธิบายข้อกำหนดของปัจจัยทางด้านสถาบัน และสถานะเชิงเศรษฐกิจสังคมของเกษตรกรในหมู่บ้าน ซึ่งสุ่มเป็นตัวอย่าง ได้ทำการตรวจสอบบทบาทของปัจจัยเหล่านี้ต่อลักษณะการผลิตและการจัดการฟาร์มและทำการประมาณการข้อจำกัดต่อประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยการผลิตโดยใช้แบบจำลอง SFPF การเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามได้ดำเนินการในระหว่างปีเพาะปลูก 2539/40 ใน 12 หมู่บ้านของจังหวัดเชียงรายซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวพันธุ์ญี่ปุ่นที่สำคัญที่สุดทั้งในด้านจำนวนและขนาดของการผลิต โดยแต่ละหมู่บ้านได้เลือกเกษตรกรเป็นจำนวน 8 ครัวเรือนด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่าง นอกไปจากนั้น ยังได้ดำเนินการเก็บข้อมูล ซึ่งไม่สามารถวัดได้เป็นตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางด้านสถาบันและสถานะเชิงเศรษฐกิจ สังคม โดยวิธีการสอบถามจากครู เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร และเกษตรกรในหมู่บ้านที่ตกเป็นตัวอย่างอีกด้วย ผลของการศึกษานี้ ได้นำไปสู่ข้อสรุปที่สำคัญ 2 ประการคือ ประการแรก การศึกษานี้ได้แสดงให้เห็นว่าปัจจัยทางด้านสถาบัน และสถานะเชิงเศรษฐกิจสังคมเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการผลิตข้าวพันธุ์ญี่ปุ่นในจังหวัดเชียงราย เหตุผลหลักประการหนึ่งก็คือ ระดับการใช้ปัจจัยการผลิตมีความสัมพันธ์กับตัวแปรสถาบันและเศรษฐกิจสังคมอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจัยทางด้านการตลาด โครงสร้างพื้นฐานของรัฐ และชนิดของดินมีความสัมพันธ์กับระดับของการใช้ปุ๋ยอย่างมีนัยสำคัญ โดยระดับของการใช้ปุ๋ยเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ประการที่สอง การศึกษานี้ได้แสดงให้เห็นว่า ความพยายามของรัฐในการที่จะเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในภาคเหนือนั้นควรมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมการผลิตข้าวพันธุ์ญี่ปุ่น การปรับปรุงปัจจัยทางด้านการตลาด ระบบการส่งเสริมการเกษตร และกลยุทธ์การจัดการฟาร์ม จะทำให้ประสิทธิภาพการผลิต และประสิทธิภาพการใช้การผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การใช้ปัจจัยการผลิตอย่างไม่มีประสิทธิภาพจะสามารถลดลงไปได้อีกประมาณร้อยละ 33 ซึ่งหมายความว่าในระดับการใช้ปัจจัยการผลิตใด ๆ การผลิตข้าวพันธุ์ญี่ปุ่นจะสามารถปรับปรุงให้เพิ่มสูงขึ้นได้อีก ผลการศึกษาแสดงให้เห็นชัดเจนว่าการส่งเสริมความรู้ทางเทคนิคให้แก่เกษตรกร และการให้คำแนะนำที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่การผลิตจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเพิ่มการผลิต