Abstract:
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพี่อศึกษารูปแบบของการทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพบริการในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปของกระทรวงสาธารณสุข กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา คือ โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป รวม 92 แห่ง สำรวจในระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคม 2543 โดยส่งแบบสอบถามทางไปรษณีย์ เกี่ยวกับการทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลที่ดำเนินการก่อนวันที่ 30 กันยายน 2543 ได้รับการตอบกลับ 86 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 93.8 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ ร้อยละค่าเฉลี่ยเลขคณิต ค่ามัธยฐาน chi-square และ Fisher’s exact test ผลการศึกษา พบว่า โรงพยาบาลส่วนใหญ่ (มากกว่าร้อยละ50) เคยทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพหลายประเภท ได้แก่ พบส. 5 ส. ESB. 3S (smile smell surrounding) กิจกรรมพัฒนาบริการด่านหน้า SS. OD. QC. QA. HA. IS09002. ISO Guide 25 และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ. โดยโรงพยาบาลทุกแห่งเคยผ่านการทำกิจกรรม พบส. และ 5 ส. มาก่อน และยังพบว่า โรงพยาบาลได้ดำเนินกิจกรรม HA โดยเพิ่งจะเริ่มดำเนินการในช่วงระยะ 3 ปี ที่ผ่านมา (ร้อยละ65.1) นอกจากนี้ ยังพบว่า ประเภทโรงพยาบาลมีความสัมพันธ์กับการทำกิจกรรม IS09002 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P = 0.036) แต่ขนาดโรงพยาบาลและจำนวนบุคลากร ไม่มีความสัมพันธ์กับการทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพ สำหรับความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาล พบว่า ส่วนใหญ่ (มากกว่าร้อยละ50) มีกระบวนการ/การปฏิบัติที่เห็นผลชัดเจนในการนำองค์กรและการบริหารการพยาบาล และเห็นผลเป็นบางส่วนในด้านทรัพยากรและการจัดการ ทรัพยากร ส่วนปัญหาและอุปสรรคของการพัฒนาคุณภาพ พบว่า โรงพยาบาลส่วนมาก จะมีปัญหาในระดับปานกลาง โดยเป็นปัญหาเกี่ยวกับด้านทรัพยากรและการจัดการ เช่น การขาดความรู้และทัศนคติที่ดีต่อการพัฒนาคุณภาพ สำหรับข้อเสนอแนะในการวิจัย คือ ควรมีการส่งเสริมในด้านความรู้ ความเข้าใจและการสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพ รวมทั้งควรจัดให้มีการประเมินผลภายในโรงพยาบาลอย่างสมํ่าเสมอ ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลประสบความสำเร็จต่อไป