Abstract:
ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี (หลังเก่า) ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร ในปี พ.ศ. 2524 จากการขยายตัวของเมืองส่งผลให้ทัศนียภาพโดยรอบโบราณสถานแห่งนี้สูญเสียคุณค่าด้านความงามทางภูมิทัศน์ไปอย่างรวดเร็ว วิทยานิพนธ์นี้จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำเสนอแนวทางการปรับปรุงคุณภาพเชิงทัศน์ของศาลากลางแห่งนี้ โดยจากการวิเคราะห์และประเมินคุณภาพเชิงทัศน์พบว่าจุดมองสำคัญของโบราณสถานแห่งนี้มีจำนวน 5 จุด และได้นำเสนอแนวทางการออกแบบปรับปรุงคุณภาพเชิงทัศน์ของจุดมองดังกล่าวออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบการจัดระเบียบ รูปแบบเรขาคณิต และรูปแบบสวนสาธารณะ จากนั้นจึงได้สร้างภาพจำลองแสดงการปรับปรุงคุณภาพเชิงทัศน์ของแต่ละจุดมองตามแนวทางดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อนำไปใช้เป็นภาพตัวแทนภูมิทัศน์สำหรับการประเมินคุณภาพเชิงทัศน์ของจุดมองภายหลังการปรับปรุงในแบบสอบถาม โดยผู้ตอบแบบสอบถามแบ่งออกเป็นกลุ่มคนทั่วไป คนในพื้นที่ และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบภูมิทัศน์ จำนวนกลุ่มละ 40 คน รวมทั้งสิ้น 120 คน ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบสวนสาธารณะเป็นแนวทางที่ได้รับการประเมินว่ามีความสวยงามสูงที่สุด รองลงมาคือรูปแบบเรขาคณิตและรูปแบบการจัดระเบียบตามลำดับ โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบภูมิทัศน์มักประเมินความสวยงามของภาพตัวแทนภูมิทัศน์ต่ำกว่ากลุ่มคนทั่วไปและคนในพื้นที่ ดังนั้นจึงนำเสนอว่าการปรับปรุงคุณภาพเชิงทัศน์ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี (หลังเก่า) ด้วยการออกแบบภูมิทัศน์ในรูปแบบสวนสาธารณะ ประกอบกับการลดพื้นที่ดาดแข็งและเพิ่มพื้นที่ปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มความร่มรื่น การจัดแบ่งพื้นที่เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการพักผ่อนหย่อนใจหรือการออกกำลังกายสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย จะสามารถช่วยส่งเสริมความงามของภูมิทัศน์เมืองและเพิ่มคุณค่าของโบราณสถานแห่งนี้อีกด้วย