Abstract:
จากการนำเปลือกต้นประดู่บ้านมาสกัดด้วยเอทิลอะซิเตต แล้วนำสิ่งสกัดที่ได้นั้นมาแยกด้วยเทคนิคคอลัมน์โครมาโทกราฟี พบว่าสามารถแยกสารในกลุ่มไตรเทอร์พีนอยด์ได้ 2 ชนิด คือ lupeol (1) และ canophyllol (2) สารประกอบควิโนน 1 ชนิด คือ 2,6-dimethoxy-p-benzoquinone (3) สารประกอบฟินอลิก 3 ชนิด คือ vanillic acid (4), trans-4-hydroxymellein (5) และ cis-4-hydroxymellein (6) และสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ 6 ชนิด โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเทอโรคาร์พิน 2 ชนิด ได้แก่ (6αR,11αR)-medicarpin (7) และ (6aR, 11aR)-3,8-dihydroxy-9-methoxypterocarpan (8) และกลุ่มไอโซฟลาโวน 4 ชนิด ได้แก่ afromosin (9), formononetin (10), clycosin (11) และ 8-O-methylretusin (12) โดยโครงสร้างทั้งหมดได้พิสูจน์ทราบด้วยข้อมูลทางสเปกโทรสโกปี ร่วมกับการเปรียบเทียบกับข้อมูลที่มีการรายงานมาก่อนหน้านี้ และจากการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดสของยีสต์พบว่าสาร 1 และ 11 มีฤทธิ์ในการยับยั้งที่ดี โดยมีค่า IC₅₀ = 37.2 และ 29.8 μM ตามลำดับ เมื่อเทียบกับสารมาตรฐาน acarbose ที่มีค่า IC₅₀ = 526 μM และจากนั้นทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดสในลำไส้หนู (มอลเทส และซูเครส) พบว่าสาร 11 มีฤทธิ์ในการยับยั้งปานกลาง โดยมีค่า IC₅₀ = 67.7 และ 103 μM ตามลำดับ เมื่อเทียบกับสารมาตรฐาน acarbose ที่มีค่า IC₅₀ = 7.9 และ 10.9 μM ตามลำดับ