Abstract:
งานวิจัยนี้ได้นำเทคนิคคะพิลลารีอิเล็กโทรฟอริซิสมาใช้ในการหาปริมาณออกซาเลตและซิเทรตในชาแบบซอง และไอโอไดด์และไอโอเดตในซอสปรุงรสเสริมไอโอดีน สำหรับการวิเคราะห์ออกซาเลตและซิเทรตได้ใช้คะพิลลารีที่ปราศจากการเคลือบผิวภายใน ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายใน 74.3 ไมโครเมตรความยาวรวม 60.2 เซนติเมตร (50 เซนติเมตรถึงตัวตรวจวัด) ภายใต้ความต่างศักย์ไฟฟ้า -20 กิโลโวลต์อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส สารละลายอิเล็กโทรไลต์ที่ใช้ประกอบด้วยบอเรตความเข้มข้น 30 มิลลิโมลาร์ ฟอสเฟต ความเข้มข้น 40 มิลลิโมลาร์ และสารละลายเตตระเดซิลไตรเมทิลแอมโมเนียมโบรไมด์ความเข้มข้น 0.05 มิลลิโมลาร์ ที่พีเอช 7.0 และตรวจวัดด้วยยูวี-วิซิเบิล ที่ความยาวคลื่น 195 นาโนเมตร จากการใช้ภาวะที่เหมาะสมพบว่าใช้เวลาในการวิเคราะห์นาน 7 นาที ผลการวิเคราะห์พบว่าปริมาณของออกซาเลตและซิเทรตในชาแบบซองยี่ห้อลิปตันอยู่ในช่วง 5.8 – 15.4 มิลลิกรัมต่อลิตรและ 99.9 – 436 มิลลิกรัมต่อลิตรตามลำดับ นอกจากนี้ในงานวิจัยนี้ยังได้พัฒนาเทคนิค CE สำหรับวิเคราะห์ปริมาณของไอโอไดด์และไอโอเดตในซอสปรุงรสชนิดเสริมไอโอดีน โดยในการวิเคราะห์ใช้คะพิลลารีขนาดเดียวกับการวิเคราะห์ออกซาเลตและซิเทรต ใช้ความต่างศักย์ไฟฟ้า -24 กิโลโวลต์ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส โดยสารละลายอิเล็กโทรไลต์ประกอบด้วยสารละลายโพแทสเซียมฟอสเฟต ความเข้มข้น 40 มิลลิโมลาร์ ที่พีเอช 2.68 และตรวจวัดด้วยยูวี-วิซิเบิล ที่ความยาวคลื่น 200 นาโนเมตร นอกจากนี้ได้นำเทคนิคการเพิ่มความเข้มข้นแบบออนไลน์โดยใช้การบรรจุสารเข้าไปในปริมาณมากและกำจัดเมทริกซ์ออกด้วยอิทธิพลการไหลแบบออสโมซิส มาใช้ในการเพิ่มความเข้มข้นของสารก่อนการแยกด้วยเทคนิค CE ผลการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่าการวิเคราะห์ไอโอไดด์และไอโอเดตใช้เวลา 10 นาที และเมื่อใช้เทคนิคการเพิ่มความเข้มข้นสารร่วมด้วยพบว่าสามารถตรวจวัดปริมาณไอโอไดด์ได้ต่ำในระดับ 0.1 ไมโครกรัมต่อลิตรอย่างไรก็ตามเทคนิค CE ที่พัฒนาขึ้นนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จในการนำไปวิเคราะห์ปริมาณไอโอไดด์และไอโอเดตในซอสปรุงรสชนิดเสริมไอโอดีน ทั้งนี้เนื่องมาจากมีการรบกวนจากคลอไรด์ที่มีอยู่ในสารตัวอย่างในปริมาณมาก