Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กสมาธิสั้น ก่อนและหลังการใช้พฤติกรรมบำบัด กลุ่มตัวอย่างคือ เด็กสมาธิสั้นที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวที่เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ของโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 22 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ แนวปฏิบัติทางคลินิกเรื่องพฤติกรรมบำบัดในเด็กสมาธิสั้นสำหรับพยาบาล คู่มือการดำเนินการใช้พฤติกรรมบำบัดในเด็กสมาธิสั้น และคู่มือการสอนบิดา มารดา / ผู้ดูแล เรื่องพฤติกรรมบำบัด ในเด็กสมาธิสั้นและแบบสังเกตพฤติกรรมก้าวร้าว เครื่องมือทุกฉบับได้รับการตรวจสอบความตรงตาม เนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน ค่าความเที่ยงของแบบสังเกตพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กสมาธิสั้น เท่ากับ .80 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติบรรยายและสถิติ ANOVA ผลการศึกษาที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้ พฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กสมาธิสั้น หลังการใช้พฤติกรรมบำบัดสัปดาห์แรกน้อยกว่าก่อนการใช้พฤติกรรมบำบัด และพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กสมาธิสั้นหลังการทดสอบ 2 สัปดาห์น้อยกว่าหลังการทดลองสัปดาห์แรกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05