Abstract:
การศึกษาผลกระทบของการปฏิรูปโครงสร้างภาษีทางอ้อมของอินเดีย ที่เป็นโอกาสต่อนักลงทุนไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบโครงสร้างภาษีทางอ้อมเดิมของอินเดียกับภาษีสินค้าและบริการ ศึกษาว่าการจัดเก็บภาษีสินค้าและบริการ (Goods and Services Tax : GST) สามารถส่งเสริมการลงทุนด้านการผลิตภายในอินเดียอย่างไร และเป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจของผู้ประกอบการไทยถึงความคุ้มค่าในการลงทุนดำเนินกิจการที่ไทยมีความเชี่ยวชาญในประเทศอินเดีย โดยการศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงผสมระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงปริมาณ (Qualitative Research) ที่ทำการศึกษาเอกสารทางวิชาการ ประกาศของรัฐบาลอินเดีย รวมถึงข้อมูลข่าวสารจากอินเทอร์เน็ต ควบคู่กับการสัมภาษณ์เชิงลึกจากบุคคลเป้าหมาย เพื่อสร้างตัวแบบคำนวณภาระทางภาษีของภาษีทางอ้อม โดยเปรียบเทียบระหว่างก่อนและหลังการจัดเก็บภาษีสินค้าและบริการของอินเดีย พบว่า การจัดเก็บภาษีสินค้าและบริการ เป็นไปตามหลักการจัดเก็บภาษีที่ดี ซึ่งเป็นภาษีที่มีความเรียบง่าย (Simple) ฐานภาษีกว้าง (Tax base) และอัตราภาษีต่ำ (Low Rate) มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับระบบการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีทางอ้อมอื่น ๆ เดิม รวมทั้งมีการนำระบบเครดิตภาษี (Input Tax Credit : ITC) มาใช้ ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการในอินเดียมีแนวโน้มถูกลง การประกาศใช้ภาษีดังกล่าวเป็นหนึ่งในมาตรการภายใต้การดำเนินนโยบาย Make in India ที่จะดึงดูดให้นักลงทุนมาลงทุนในอินเดียมากขึ้น และจะเป็นโอกาสสำคัญให้ผู้ประกอบการ
ชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร การแปรรูปอาหาร การบริการด้านการท่องเที่ยว รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมด้านการแพทย์ ให้สามารถขยายการลงทุนไปยังอินเดีย เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยมากขึ้น