Abstract:
การวิจัยชิ้นนี้ต้องการตอบคำถามที่ว่ากลไกการประเมินการเป็นองค์กรคุณธรรมมีประสิทธิผลในการสร้างธรรมาภิบาลให้แก่สำนักงบประมาณมากน้อยเพียงใด และรูปแบบการสร้างธรรมาภิบาลให้แก่หน่วยงานราชการไทยควรมีลักษณะอย่างไร โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ได้แก่ การเก็บข้อมูลจากเอกสารของหน่วยงานและการสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติงานและผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้เกี่ยวกับกลไกการประเมินองค์กรคุณธรรมภาครัฐ และมีประสบการณ์ในการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลของสำนักงบประมาณ จำนวนรวม 9 คน โดยมีข้อค้นพบจากงานวิจัยฉบับนี้ คือ กลไกการประเมินการเป็นองค์กรคุณธรรมมีทั้งส่วนที่ได้รับการการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการส่งผลต่อการมีประสิทธิผลในการสร้างธรรมาภิบาล อาทิ การประเมินเป็นการเพิ่มภาระงานโดยมิจำเป็น และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการประเมินองค์การคุณธรรมเท่าที่ควร ในขณะที่บางส่วนสนับสนุนว่ากลไกการประเมินการเป็นองค์กรคุณธรรมมีส่วนในการเพิ่มประสิทธิผลในการสร้างธรรมาภิบาลให้แก่หน่วยงาน เนื่องจากการประเมินคุณธรรมก่อให้เกิดการขับเคลื่อนกิจกรรมใหม่ๆ นอกเหนือจากงานที่รับผิดชอบอยู่เดิม โดยที่เป็นกิจกรรมที่เป็นการสร้างคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในหมู่ข้าราชการ และการมีส่วนช่วยให้การจัดสรรงบประมาณของสำนักงบประมาณจำกัดการใช้ดุลพินิจลง นอกจากนี้ ยังค้นพบรูปแบบการสร้างธรรมาภิบาลที่เหมาะสมแก่หน่วยงานราชการไทย โดยมีข้อเสนอแนะ ได้แก่ 1) ควรมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานกลางที่เป็นผู้รับผิดชอบในแต่ละการประเมินโดยเฉพาะสำนักงาน ก.พ. ควรเป็นศูนย์กลาง (centre) ในการดำเนินการเรื่องดังกล่าวเนื่องจากเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ในการบังคับใช้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 โดยที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ส่วนราชการจะต้องไปกำหนดจรรยาบรรณของข้าราชการเพื่อเป็นประมวลความประพฤติในการสร้างคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลภายในหน่วยงาน รวมทั้ง มีบทกำหนดโทษทางวินัยและอาญาที่ชัดเจนกรณีพบการฝ่าฝืนจรรยาบรรณดังกล่าวและ 2) ควรมีการเปิดโอกาสให้บุคลากรภายในหน่วยงานมีส่วนร่วมในการดำเนินการประเมินองค์กรคุณธรรมของหน่วยงานของตนเองให้มากที่สุด