Abstract:
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมการดูแลตนเอง ของผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย ก่อนและหลังได้รับโปรแกรมการพยาบาลแบบองค์รวม กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ที่มีพฤติกรรมพยายามฆ่าตัวตาย ที่เข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งได้รับการคัดเลือกแบบเจาะจงตามเกณฑ์คุณสมบัติ จำนวน 20 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาคือ โปรแกรมการพยาบาลแบบองค์รวม ซึ่งผสมผสานระหว่างแนวคิดสัมพันธภาพระหว่างบุคคล และการพัฒนาพฤติกรรมการดูแลตนเองให้มีชีวิตที่มีสุขภาพดีโปรแกรมการพยาบาลแบบองค์รวมรวม ประกอบด้วย 5 กิจกรรมหลัก คือ สัมพันธภาพบำบัด การพัฒนาความมีคุณค่าในตนเอง ความรู้ด้านการดำรงชีวิตในครอบครัวและในชุมชน การฝึกทักษะการผ่อนคลาย และการส่งเสริมความผาสุกทางจิตวิญญาณและผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ท่าน เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลคือ แบบประเมินพฤติกรรมการดูแลตนเองด้านสุขภาพจิต มีค่าความเที่ยงของเครื่องมือ เท่ากับ .82 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและทดสอบค่าที (Dependent t-test) ผลการศึกษาที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้ พฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย หลังได้โปรแกรมการพยาบาลแบบองค์รวมเพิ่มมากกว่าก่อนได้รับโปรแกรมการพยาบาลองค์รวม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 18.65, p<.05)