Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาหาวิธีการพยากรณ์ที่เหมาะสมสำหรับการพยากรณ์ข้อมูลปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของกรมชลประทาน และต้องการหาตัวแบบพยากรณ์ที่ให้ค่าพยากรณ์ที่มีความคลาดเคลื่อนต่ำ โดยศึกษาเปรียบเทียบวิธีการพยากรณ์ 4 วิธี โดยการพิจารณาค่าเฉลี่ยของเปอร์เซ็นต์ค่าความคลาดเคลื่อนสัมบูรณ์ วิธีการพยากรณ์ 4 วิธี ได้แก่ วิธีการพยากรณ์ด้วยวิธีการถดถอย เทคนิคการปรับให้เรียบ วิธีการแยกองค์ประกอบ และวิธีการของบ็อกซ์ -เจนกินส์ ในการวิจัยครั้งนี้ใช้ข้อมูลทุติยภูมิที่รวบรวมมาจากฝ่ายจัดสรรน้ำ สำนักอุทกวิทยาและบริหารน้ำ กรมชลประทาน เป็นข้อมูลอนุกรมเวลารายเดือน ในช่วงปี 2530 – 2540 ผลการศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลที่วิเคราะห์ได้ว่า วิธีการถดถอยเหมาะสมกว่าวิธีอื่น ๆ ที่นำมาศึกษาเปรียบเทียบสำหรับข้อมูลปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของกรมชลประทาน ซึ่งสามารถสรุปผลเป็นตัวแบบได้ดังนี้ Ŷt = β0 + β1 Yt-1 + β2 X1,t-1 + β3 X2,t-1 [ Symbol] โดยที่ Ŷt = ค่าพยากรณ์ของปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ณ ต้นเดือน t Y t-1 = ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ในเดือน t-1 X 1,t-1= ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำ ในเดือน t-1 X 2,t-1= ปริมาณน้ำระบายท้ายเขื่อน ในเดือน t- 1 ค่าคงที่ ( Beta ) และค่าสัมประสิทธิ์ ( Beta) จะมีค่าเปลี่ยนแปลงไปตามข้อมูลของแต่ละอ่างเก็บน้ำ และความแม่นยำของการพยากรณ์จะขึ้นอยู่กับการกำหนดค่าของตัวแปรอิสระด้วย