Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความร่วมมือระหว่างประเทศ และบทบาทของโลกาภิบาลในการแก้ไขปัญหาโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือ โรคซาร์ส ซึ่งแพร่ระบาดในช่วงปี พ.ศ. 2545-2546 โดยเน้นศึกษาสาเหตุที่ทำให้รัฐต่างๆ หันมาร่วมมือกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว และศึกษาบทบาทขององค์การอนามัยโลกในฐานะที่เป็นโลกาภิบาลด้านสาธารณสุขที่มีต่อการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า รัฐต่างๆ จำเป็นต้องให้ความร่วมมือกันในอันที่จะแก้ไขปัญหาโรคซาร์ส เนื่องจากโรคซาร์สถือเป็นโรคระบาดในยุคโลกาภิวัฒน์ที่เป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรง และส่งผลกระทบอย่างมาก ต่อความมั่นคงของรัฐต่างๆ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมจิตวิทยา โดยรูปแบบของความร่วมมือที่เกิดขึ้นก็มีทั้งความร่วมมือในระดับทวิภาคี และพหุภาคี ซึ่งผลที่ได้จากความร่วมมือนั้นมีมากมายหลายประการ อย่างไรก็ตาม เพียงแค่ความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นนี้ยังไม่สามารถทำให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวบรรลุผลสำเร็จได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว หากปราศจากความช่วยเหลือขององค์การอนามัยโลก ในฐานะที่เป็นโลกาภิบาลด้านสาธารณสุข โดยองค์การอนามัยโลกได้เข้าไปมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาโรคซาร์สที่เกิดขึ้นในหลายๆ ด้าน ตัวอย่างเช่น บทบาทด้านการเฝ้าระวัง และการควบคุมป้องกันโรค หรือ บทบาทด้านการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งผลที่ได้จากการดำเนินการแก้ไขปัญหาโรคซาร์สขององค์การอนามัยโลก ประการแรกนั้นคือ ทำให้ความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาดำเนินไปอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น ประการที่สอง คือ ทำให้ทราบที่มาของเชื้อต้นเหตุของโรคในระยะเวลาอันรวดเร็ว และประการสุดท้าย คือ ทำให้การควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จนสามารถยุติการแพร่ระบาดได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว