Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเข้าสู่วาระนโยบาย กระบวนการก่อตัวของนโยบาย และผลกระทบที่เกิดจากรูปแบบการกำหนดนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารในประเทศไทย โดยประยุกต์ใช้แนวคิดการเข้าสู่วาระนโยบายของคิงดอน แนวคิดการกำหนดนโยบายของ ไดร์ แวมสเล่ย์ และซาล และการวิเคราะห์ผลกระทบจากรูปแบบการกำหนดนโยบาย เป็นกรอบในการศึกษา นโยบาย มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารที่ศึกษาในครั้งนี้กำหนดขอบข่ายไว้ที่ การเข้าสู่วาระนโยบาย การกำหนด นโยบาย และผลกระทบจากกระบวนการกำหนดนโยบายที่มีต่อสาระของนโยบาย โดยใช้ช่วงเวลาในช่วง การจัดตั้งองค์การการค้าโลกในปี พ.ศ. 2538 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นปีแห่ง ความปลอดภัยด้านอาหาร การวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารราชการ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ และการสัมภาษณ์ ผู้มีบทบาทเกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสียในนโยบาย พบว่า กระแสปัญหา กระแสนโยบาย และกระแส การเมืองมีอิทธิพลสำคัญต่อการเข้าสู่วาระนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตร และอาหารในประเทศไทย ภายใต้การปฏิสัมพันธ์กันระหว่างการเมืองกับการบริหาร และอิทธิพลขององค์การระหว่างประเทศที่มี ต่อกระบวนการกำหนดนโยบาย โดยส่วนราชการหรือฝ่ายบริหารเป็นตัวกลางระหว่างภาคเอกชนซึ่งรับ แนวทางด้านมาตรฐานจากประเทศคู่ค้าและเป็นตัวกลางระหว่างองค์การระหว่างประเทศกับฝ่ายการเมือง หรือคณะรัฐมนตรีในการกำหนดนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร โดยองค์การระหว่างประเทศ จะมีบทบาทสำคัญเพราะมาตรฐานขององค์การระหว่างประเทศเป็นมาตรฐานขั้นต่ำในการเจรจาการค้า ระหว่างประเทศ ส่วนราชการจึงใช้อิทธิพลขององค์การระหว่างประเทศในการผลักดันความต้องการของ ตนต่อฝ่ายการเมือง และองค์การระหว่างประเทศก็ใช้ส่วนราชการในการผลักดันให้ฝ่ายการเมืองยอมรับ มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารตามความตกลงระหว่างประเทศจนกระทั่งมีการกำหนดนโยบายออกมา ซึ่งลักษณะเช่นนี้ ทำให้กระบวนการกำหนดนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตร และอาหารในประเทศไทย กลายเป็นเวทีในการเจรจาต่อรองของส่วนราชการเกี่ยวกับขอบเขตอำนาจหน้าที่ โดยบทบาทของส่วน ราชการจะโดดเด่นได้มากนอกจากการที่ส่วนราชการจะมีลักษณะเฉพาะทางวิชาการแล้ว ยังเกิดจาก ความไม่จริงจังของฝ่ายการเมืองเนื่องจากได้รับประโยชน์จากการประชาสัมพันธ์ต่อสาธารณะไปแล้ว และยังเกิดจากการที่องค์การระหว่างประเทศได้รับประโยชน์ไปแล้วจากการที่รัฐบาลยอมรับในมาตรฐานตามความตกลงระหว่างประเทศ การศึกษานโยบานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารในประเทศไทยนี้ นำมาสู่ข้อค้นพบใน 3 ประการสำคัญคือ 1) ประเด็นเรื่องมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารเป็นปัญหาที่ได้รับความสำคัญอย่างมากในประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเด็นดังกล่าวถูกองค์การระหว่างประเทศส่งผ่านและถ่ายทอดแนวคิดนโยบายมายังประเทศที่กำลังพัฒนา ผ่านการประชุมสัมมนาขององค์การระหว่างประเทศ จนพัฒนากลายเป็นประเด็นสำคัญในประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ประเด็นเรื่องมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารเข้าสู่วาระนโยบายของรัฐบาลในประเทศที่กำลังพัฒนาได้ 2) การก่อตัวของนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารในประเทศไทยเป็นไปตามตัวแบบผู้นำที่ส่วนราชการเป็นตัวแทนในการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ดับองค์การระหว่างประเทศ และเป็นตัวกลางระหว่างองค์การระหว่างประเทศกับฝ่ายการเมืองในการกำหนดนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร เนื่องจากส่วนราชการใช้อิทธิพลขององค์การระหว่างประเทศในการผลักดันความต้องการของตนต่อฝ่ายการเมือง และองค์การระหว่างประเทศก็ใช้ส่วนราชการในการผลักดันให้ฝ่ายการเมืองยอมรับมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารตามความตกลงระหว่างประเทศจนกระทั่งมีการกำหนดนโยบายออกมา ซึ่งสามารถอธิบายได้โดย "ตัวแบบส่วนราชการในฐานะตัวกลางในการเข้าสู่วาระและการกำหนดนโยบาย" ที่การศึกษานี้ได้พัฒนาขึ้น 3) ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากรูปแบบการก่อตัวของนโยบายตามตัวแบบที่ส่วนราชการเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ทำให้กระบวนการกำหนดนโยบายกลายเป็นเวทีในการเจรจาต่อรองของส่วนราชการเกี่ยวกับของเขตอำนาจหน้าที่อันเกิดจากการที่ส่วนราชการมีลักษณะเฉพาะทางวิชาการ รวมทั้งฝ่ายการเมืองไม่จริงจังเนื่องจากได้รับประโยชน์จากการประชาสัมพันธ์ต่อสาธารณะไปแล้ว และองค์การระหว่างประเทศก็ได้รับประโยชน์ไปแล้วจากการที่รัฐบาลยอมรับในมาตรฐานตามความตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งท้ายที่สุดก็ไม่สามารถที่จะรับรองได้ว่ากระบวนการดังกล่าวจะสะท้อนผลประโยชน์สาธารณะได้