Abstract:
ที่มาของการศึกษา : ในปัจจุบันการทดสอบความทนต่ออินสุลิน ถือเป็นวิธีการที่เป็นมาตรฐานในการตรวจสอบการทำงานของต่อมหมวกไต แต่วิธีการดังกล่าวมีข้อจำกัดในการใช้ ทางเลือกอื่นคือการใช้การทดสอบด้วยฮอร์โมน อะดรีโนคอร์ติโคโทรปินขนาด 250 ไมโครกรัม แต่ในรายงานต่อมาพบว่าอาจเกิดผลผิดพลาดได้จากขนาดที่ใช้สูงเกินไป การใช้ในขนาดที่ตํ่ากว่าน่าจะมีความเหมาะสมกว่า แต่ยังไม่มีข้อสรุป วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบการใช้ฮอร์โมนอะดรีโนคอร์ติโคโทรปินในขนาด 1 ไมโครกรัมกับขนาด 250 ไมโครกรัม โดยเทียบกับการทดสอบความทนต่ออินสุลินเป็นมาตรฐาน ประชากรและวิธีการ : ผู้ปวยที่เป็นโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองหรือบริเวณใกล้เคียง จำนวน 16 รายได้เข้ารับการศึกษาเป็นหญิง 10 ราย, ชาย 6 ราย เก็บข้อมูลได้ 14 ราย ได้รับการทดสอบด้วยการให้ฮอร์โมนอะดรีโนคอร์ติโคโทรปิน 1 ไมโครกรัม และวัดระดับ คอร์ติซอล ที่ 0,20,30 และ60 นาที และขนาด 250 ไมโครกรัม และวัดระดับ คอร์ติซอล ที่ 0,30,และ60 นาที เปรียบเทียบกับการทดสอบความทนต่อ อินสุลินโดยวัดระดับ คอร์ติซอล ที่ 0 นาที,จุดมีนํ้าตาลในเลือดตํ่า และหลังจากนั้น 60 นาที การวัด : การวัดระดับคอร์ติชอล ใช้วิธี RIA โดยใช้ค่าที่สูงสุดเป็นจุดวินิจฉัยที่ 20 ไมโครกรัมเปอร์เซ็นต์ผลการศึกษา จากระดับคอร์ติซอลที่สูงสุดเป็นตัวเปรียบเทียบพบว่า เมื่อใช้การทดสอบความทนต่อ อินสุลินเป็นมาตรฐานพบว่าในกรณีที่ใช้ ฮอร์โมน 1 ไมโครกรัม จะมีความไว 80%,ความจำเพาะ 75% ในขณะที่การใช้ฮอร์โมน 250 ไมโครกรัม มีความไว 60% มีความจำเพาะ 75% สรุป จากข้อมูลที่ทำการศึกษาพบว่าการใช้ฮอร์โมน อะดรีโนคอร์ติโคโทรปิน 1 ไมโครกรัมทำการทดสอบการทำงานของต่อมหมวกไต จะมีความไวมากกว่าขนาด 250 ไมโครกรัมที่ใช้กันเป็นสากลในปัจจุบัน ซึ่งเหมาะสมที่จะนำมาใช้แทนที่ในการทดสอบการทำงานของต่อมหมวกไตต่อไป