Abstract:
การจัดการตรวจคัดกรองมะเร็งให้ประชาชนของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน เนื่องจากแต่ละประเทศมีการจัดระบบประกันสุขภาพ รวมทั้งระดับรายได้แตกต่างกัน จึงเป็นที่น่าสนใจว่าแต่ละประเทศมีแนวทางการเบิกจ่ายการตรวจคัดกรองมะเร็งอย่างไร รวมถึงการศึกษาว่าปัจจัยใดเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจของรัฐในการเบิกจ่ายการตรวจคัดกรองมะเร็ง ทั้งนี้การศึกษานี้ครอบคลุมการตรวจคัดกรองมะเร็งที่พบบ่อย 3 ชนิดคือมะเร็งเต้านมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง และมะเร็งปอด และทำการศึกษาใน 8 ประเทศได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร การศึกษานี้ใช้วิธีทบทวนวรรณกรรมจากฐานข้อมูล Pubmed, ScienceDirect Scopus เว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข และเว็บไซต์ของหน่วยงานประกันสุขภาพของแต่ละประเทศ กรอบในการสกัดข้อมูลสำหรับการศึกษานี้ประกอบด้วย วิธีการตรวจคัดกรอง สถานภาพการเบิกจ่าย เงื่อนไขการเบิกจ่ายประสิทธิภาพของการตรวจคัดกรองในแง่ความไว และความจำเพาะ แนวทางการตรวจคัดกรองมะเร็งระดับประเทศความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ การเข้าถึงการรักษาหากได้รับการวินิจฉัยเป็นมะเร็งดังกล่าว จากการศึกษาพบว่าวิธีตรวจและสถานภาพการเบิกจ่ายเงินสำหรับการคัดกรองมะเร็งแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันระหว่างประเทศ สำหรับการคัดกรองมะเร็งเต้านมมี 2 แบบได้แก่ การตรวจโดยการคลำเต้านมโดยผู้เชี่ยวชาญ
(ไทย-สิทธิประกันสังคม และมาเลเซี่ย) และการตรวจเต้านมด้วยเครื่องถ่ายภาพรังสีเต้านม
(สิงค์โปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร) การคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงมี 4 วิธี โดยประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน และออสเตรเลียให้ตรวจด้วยวิธี Fecal immunochemical test ในขณะที่ไทย(สิทธิประกันสังคม) เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นให้ตรวจด้วยวิธี Fecal occult blood test และสหราชอาณาจักรให้ตรวจด้วยวิธี Fecal occult blood test ร่วมกับ Colonoscopy ส่วนการคัดกรองมะเร็งปอดมีวิธีเดียวที่จำเพาะคือ Low-dose CT scan แต่ไม่
พบว่ามีประเทศใดบรรจุไว้ในชุดสิทธิประโยชน์เลย เป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศที่มีระดับรายได้สูงจะให้สิทธิประโยชน์ในการตรวจคัดกรองที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากกว่า นอกจากนี้ยังพบว่าการบรรจุการตรวจคัดกรองมะเร็งในชุดสิทธิประโยชน์ของแต่ละประเทศมีการกำหนดเงื่อนไขแตกต่างกันไป เช่น อายุ ความถี่ในการตรวจคัดกรอง นอกจากนี้ปัจจัยที่น่าจะส่งผลต่อการคัดเลือกบรรจุการตรวจคัดกรองลงในชุดสิทธิประโยชน์คือ ประสิทธิภาพของวิธีการตรวจ(ความไวและความจำเพา: แนวทางการตรวจคัดกรองมะเร็งระดับประเทศ ความคุ้มค่าของการตรวจคัดกรอง และการมียารักษาโรคมะเร็งที่เบิกจ่ายได้