Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเรียนรู้ถึงประสบการณ์ของนักจิตวิทยาการปรึกษาฝึกหัดที่เคยหรือประสบกับสภาวะความเหนื่อยล้าในการเห็นอกเห็นใจ โดยใช้ระเบียบวิจัยคุณภาพแนววิเคราะห์เชิงปรากฏการณ์วิทยาแบบตีความ เก็บข้อมูลด้วยวิธีสัมภาษณ์เชิงลึกแบบกึ่งโครงสร้าง ผู้เข้าร่วมการวิจัยเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาฝึกหัดที่เคยหรือกำลังประสบกับสภาวะความเหนื่อยล้าในการเห็นอกเห็นใจทั้งหมด 7 ราย ผลการวิจัยพบ 3 ประเด็นหลักที่สำคัญได้แก่ 1) ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเหนื่อยล้าในการเห็นอกเห็นใจ ประกอบด้วย การมีส่วนร่วมของผู้รับบริการ ทักษะและประสบการณ์ และ การจัดการตนเองและการบริการโดยมีประเด็นย่อยได้แก่ การจัดการปัญหาส่วนตัว จำนวนผู้รับบริการต่อวันมากเกินไป และการควบคุมความเหนื่อยไม่ให้ถูกแสดงออกมา 2) ผลกระทบของสภาวะความเหนื่อยล้าในการเห็นอกเห็นใจ ประกอบด้วย ประสิทธิภาพในการดำเนินชีวิตประจำวันลดลง และ ความยากที่จะแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจโดยมีประเด็นย่อยได้แก่ ความสามารถในการสะท้อนความรู้สึกของผู้รับบริการลดลงและ ไม่สามารถมีส่วนร่วมกับสังคมรอบข้าง 3) การจัดการกับสภาวะความเหนื่อยล้าในการเห็นอกเห็นใจ ประกอบด้วย การให้เวลาดูแลตัวเอง และ การสนับสนุนจากสังคมรอบข้างโดยมีประเด็นย่อยได้แก่ อาจารย์นิเทศก์ช่วยทำความเข้าใจภาวะที่เกิดขึ้น และความเข้าใจจากคนสำคัญรอบข้าง โดยผลการวิจัยครั้งนี้ทำเพื่อเป็นข้อมูลให้แก่นักจิตวิทยาการปรึกษาฝึกหัดที่เคยหรือประสบกับสภาวะกับความเหนื่อยล้าในการเห็นอกเห็นใจหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง