Abstract:
การวิจัยนี้มุ่งศึกษาความสัมพันธ์ของความถี่ในการเข้าร่วมกิจกรรมยามว่าง ในการทำนายความพึงพอใจในชีวิต โดยมีการเติมเต็มความต้องการพื้นฐานด้านจิตใจ (การเติมเต็มการมีอิสระในตนเอง การเติมเต็มความสัมพันธ์ และการเติมเต็มความสามารถ) เป็นตัวแปรส่งผ่าน และเหตุผลในการเข้าร่วมกิจกรรมยามว่าง (เพื่อความสนุกสนาน เพื่อการรับรู้ถึงตัวตนและบทบาท และเพื่อการเข้าร่วมทางสังคม) เป็นตัวแปรกำกับ ในงานวิจัยเป็นการวิจัยเชิงสหสัมพันธ์ ที่มีการเก็บข้อมูลโดยแบบสอบถามและเลือกเก็บกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง โดยเก็บข้อมูลจากผู้สูงวัยที่มีอายุระหว่าง 60-69 ปี สามารถดูแลและพึ่งพาตนเองในชีวิตประจำวันได้ อีกทั้ง มีการเข้าร่วมกิจกรรมยามว่างที่ตนเองชื่นชอบและไม่ได้รับรายได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมยามว่างในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง โดยใช้เวลาอย่างต่ำ 30 นาทีเป็นต้นไป จำนวนทั้งสิ้น 232 คน จากผลการวิเคราะห์ในงานวิจัย ไม่พบอิทธิพลส่งผ่าน และอิทธิพลกำกับ (Moderated Mediation) ของโมเดลการวิจัย กล่าวคือ ไม่พบความสัมพันธ์ของความถี่ในการเข้าร่วมกิจกรรมยามว่างต่อการทำนายความพึงพอใจในชีวิต โดยมีการเติมเต็มความต้องการพื้นฐานด้านจิตใจ (การเติมเต็มการมีอิสระในตนเอง การเติมเต็มความสามารถ และ การเติมเต็มความสัมพันธ์) เป็นตัวแปรส่งผ่าน และเหตุผลในการเข้าร่วมกิจกรรมยามว่าง (เพื่อความสนุกสนาน เพื่อการรับรู้ถึงตัวตนละบทบาท และเพื่อการเข้าร่วมทางสังคม) เป็นตัวแปรกำกับ อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ความถี่ในการเข้าร่วมกิจกรรมยามว่างสามารถทำนายการเติมเต็มความต้องการด้านความสัมพันธ์ โดยขึ้นอยู่กับเหตุผลในการเข้าร่วมกิจกรรมยามว่างเพื่อการเข้าร่วมทางสังคม จึงสามารถกล่าวได้ว่า นอกจากการเข้าร่วมกิจกรรมยามว่างอย่างเป็นประจำ สิ่งสำคัญคือการรับรู้ประโยชน์จากการเข้าร่วมกิจกรรมยามว่างที่สามารถตอบสนองความต้องการของตนเองได้ ดังในงานวิจัยที่ผู้สูงวัยเข้าร่วมกิจกรรมยามว่างเพื่อการเข้าร่วมทางสังคม และเข้าร่วมอย่างเป็นประจำ อาจนำไปสู่การได้รับการเติมเต็มความต้องการด้านความสัมพันธ์