Abstract:
พุทธศาสนาเถรวาทมีความเข้าใจต่อความทุกข์เฉพาะทั้งห้าประการของสตรี ในอาเวณิกสูตร ว่าเป็นความทุกข์ของสตรีที่มีความเป็นเฉพาะต่างจากความทุกข์ของบุรุษ โดยที่กายในเชิงชีววิทยาและกายในบริบทเชิงสังคมวัฒนธรรมของสตรีเป็นเงื่อนไขของความทุกข์เฉพาะนี้ วิถีการดับทุกข์ของสตรีย่อมมีวิธีต่างจากวิถีการหลุดพ้นของบุรุษ
วิทยานิพนธ์นี้จึงมุ่งศึกษาและวิเคราะห์แนวคิดเรื่องกายภิกษุณีกับการบรรลุธรรมโดยเสนอว่ากายสามารถเป็นเงื่อนไขในการดับทุกข์ของสตรีอย่างมีนัยสำคัญ และมีกระบวนการปฏิบัติในฐานะภิกษุณีเป็นเงื่อนไขสำคัญยิ่งต่อการบรรลุธรรมของสตรี
วิทยานิพนธ์นี้ได้ใช้แนวคิดเรื่องกายเป็นกรอบการวิเคราะห์เทียบเคียงพระวินัย ว่าด้วยอาบัติปาราชิกของภิกษุณีที่แตกต่างจากอาบัติปาราชิกของภิกษุ และใช้แนวคิดเรื่องกายภิกษุณี วิเคราะห์พระวินัยภิกษุณีสงฆ์ 130 สิกขาบทในมิติทั้งสาม ได้แก่ 1. กายภิกษุณีในฐานะกายสตรี 2. กายภิกษุณีในชุมชนภิกษุณีสงฆ์ และ3.กายภิกษุณีกับภิกษุและกับฆราวาสในเชิงความสัมพันธ์ โดยพิจารณาว่าพระวินัยภิกษุณีสามารถเกื้อกูลต่อกายเชิงชีววิทยาและขจัดอุปสรรคที่เกี่ยวกับกายในเชิงบริบททางสังคมวัฒนธรรมเพื่อเกื้อกูลการบรรลุธรรมให้แก่สตรี วิทยานิพนธ์ยังได้วิเคราะห์เทียบเคียงคัมภีร์เถรีคาถา กับคัมภีร์เถรคาถา ด้วยกรอบคิดเรื่องกาย โดยพบว่าแง่มุมที่พระเถรีมีต่อกายของตนในฐานะเหตุแห่งทุกข์ กายในฐานะอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม และกายในฐานะเงื่อนไขของการบรรลุธรรมมีความแตกต่างจากที่พระเถระมีต่อกายของตน
วิทยานิพนธ์นี้พบว่าพุทธศาสนาเสนอการรื้อสร้างกายให้แก่สตรีในฐานะภิกษุณี ในแง่ของการรื้อกายด้วยการทำกายานุปัสสนา การทำอสุภกรรมฐานคือการใช้กายเป็นเครื่องมือให้ตระหนักถึงความไม่เที่ยงและความน่ารังเกียจเพื่อคลายความยึดมั่นต่อร่างกาย ขณะที่พุทธศาสนาสร้างกายสตรีในฐานะกายภิกษุณี ในแง่ของการบัญญัติพระวินัยภิกษุณีให้เกื้อกูลการปฏิบัติธรรมแก่ภิกษุณีในชุมชนภิกษุณีสงฆ์เพื่อเป็นวิถีสู่การดับทุกข์ของสตรี