Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์การต่อรองกับแนวคิดมนุษย์เป็นศูนย์กลางของนวนิยายที่เล่าผ่านมุมมองของสัตว์สามเรื่อง ได้แก่ อะ ด็อกส์ เพอร์โพส โดย ดับเบิลยู. บรูซ แคเมอรอน, เดลตา เดอะ แดนซิง เอลิเฟนท์ : อะ เมมมัวร์ โดย เค. เอ. มอนโร. และ เดอะ ทราเวลลิง แคต ครอนิเคิลส์ โดย ฮิโระ อะริกะวะ ผลการศึกษาพบว่านวนิยายทั้งสามเรื่องเสนอให้สัตว์ต่อรองกับแนวคิดมนุษย์เป็นศูนย์กลางในมิติเรื่อง ภาษา เหตุผล และจริยธรรม
สำหรับในมิติของภาษา นวนิยายทั้งสามเรื่องเสนอให้เห็นว่าสัตว์ต่อรองกับคุณค่าที่มนุษย์กำหนดให้กับพวกมัน เช่น การเป็นสินค้าหรือการเป็นภาพแทนของสิ่งที่มนุษย์ปรารถนา โดยตัวละครสัตว์สามารถวิพากษ์วิจารณ์หรือชี้แจงต่อการถูกกำหนดนิยามดังกล่าว ต่อมาในมิติเรื่องเหตุผล นวนิยายทั้งสามเรื่องเสนอให้เห็นความสามารถในการคิดและการตระหนักรู้ของสัตว์ สิ่งที่ถูกเสนอในมิตินี้นำไปสู่การปลูกฝังให้มนุษย์เกิดความเห็นอกเห็นใจต่อสิ่งมีชีวิตอื่นเพราะมนุษย์เล็งเห็นคุณสมบัติที่สายพันธุ์มนุษย์มีร่วมกับสายพันธุ์เหล่านั้น สำหรับมิติด้านจริยธรรม นวนิยายสะท้อนให้เห็นว่าสัตว์สามารถแสดงออกในเชิงจริยธรรมได้ แม้ว่าการแสดงออกดังกล่าวจะถูกขับเคลื่อนด้วยสัญชาตญาณ นอกจากนี้ การพิจารณาสัตว์อย่างใคร่ครวญยังอาจทำให้มนุษย์ตระหนักรู้ถึงแง่มุมด้านจริยธรรมของพวกเขา อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาพบว่า นวนิยายทั้งสามเรื่องข้างต้นยังไม่สามารถก้าวข้ามแนวคิดมนุษย์เป็นศูนย์กลางได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากตัวละครสัตว์ยังคงถูกมนุษย์ควบคุมผ่านการทำให้ตัวละครสัตว์เหล่านี้ต้องพึ่งพิงมนุษย์ หรือทำให้มนุษย์ยอมรับ