Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาขนบและการสร้างสรรค์บทโขนเรื่องรามเกียรติ์ของเสรี หวังในธรรมโดยใช้บทโขนที่กรมศิลปากรพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่พ.ศ.2507-พ.ศ.2550 และศึกษาคุณค่าของบทโขนดังกล่าวในฐานะวรรณคดีการแสดง
ผลการศึกษาพบว่าบทโขนของเสรี หวังในธรรมซึ่งเป็นบทโขนโรงใน แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีการผสมผสานการสืบทอดขนบการประพันธ์บทโขนและการสร้างสรรค์ในลักษณะต่าง ๆ ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ตั้งแต่พ.ศ.2489-พ.ศ.2503 คือบทโขนยุคแรกที่เสรี หวังในธรรมเป็นผู้แต่งบางองก์หรือบางตอนร่วมกับผู้แต่งท่านอื่นเพื่อจัดแสดง ณ โรงละครศิลปากร บทโขนกลุ่มนี้สืบทอดขนบการประพันธ์ในด้านรูปแบบที่มีลักษณะเป็นบทโขนโรงใน ด้านเนื้อหาตามขนบเรื่องรามเกียรติ์ที่มีมาแต่เดิม และด้านการเรียบเรียงบทที่มีการนำบทเดิมมาปรับใช้และการรักษานาฏการสำคัญของโขนแต่เดิมไว้ ส่วนที่สร้างสรรค์ขึ้นคือการดำเนินเรื่องให้กระชับและการแต่งบทให้มีสัมพันธภาพเพื่อเชื่อมโยงไปยังตอนอื่น ๆ ที่ผู้อื่นเป็นคนแต่ง
กลุ่มที่ 2 พ.ศ.2522 คือบทโขนที่เสรี หวังในธรรมเป็นผู้แต่งโดยมีท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนีเป็นที่ปรึกษา บทโขนกลุ่มนี้สืบทอดขนบการประพันธ์บทโขนทั้งในด้านรูปแบบที่มีลักษณะเป็นบทโขนโรงใน ด้านเนื้อหาตามขนบของเรื่องรามเกียรติ์ที่มีมาแต่เดิม และด้านการเรียบเรียงบทที่มีการนำบทเดิมมาปรับใช้ มีการรักษานาฏการสำคัญของโขนแต่เดิมไว้ และมีการให้ความสำคัญกับกระบวนแบบละครใน ส่วนที่สร้างสรรค์ขึ้นคือการดำเนินเรื่องกระชับและการแต่งบทให้เอื้อต่อกระบวนแสดงแบบละครใน
กลุ่มที่ 3 ตั้งแต่พ.ศ.2517-พ.ศ.2550 คือบทโขนที่เสรี หวังในธรรมเป็นผู้แต่งทั้งชุด บทโขนกลุ่มนี้มีรูปแบบเป็นบทโขนโรงในตามขนบ จำแนกได้เป็นชุดที่มีเนื้อหาตามขนบของเรื่องรามเกียรติ์ที่มีมาแต่เดิม และชุดที่มีเนื้อหาตามนิทานพระรามฉบับแปลกใหม่ ชุดที่มีเนื้อหาตามขนบประกอบด้วยชุดที่ดำเนินเรื่องตามขนบของบทโขน คือดำเนินเรื่องเฉพาะตอนและดำเนินเรื่องหลายตอนต่อเนื่องกันตามลำดับเวลา และชุดที่ปรับการดำเนินเรื่องแบบใหม่โดยมุ่งนำเสนอประวัติและเรื่องราวของตัวละครตัวใดตัวหนึ่งเป็นหลัก ส่วนชุดที่มีเนื้อหาตามนิทานพระรามฉบับแปลกใหม่ มีทั้งชุดที่นำเนื้อหามาจากรามายณะฉบับต่างชาติและนิทานพระรามฉบับอื่นของไทย ในด้านการเรียบเรียงบทของบทโขนกลุ่มที่ 3 นี้พบว่า มีการนำบทเดิมมาปรับใช้ผสมกับส่วนที่แต่งขึ้นใหม่ นอกจากนี้บทโขนกลุ่มนี้ยังมีทั้งส่วนที่รักษากระบวนแสดงแบบเดิม และมีกระบวนแสดงที่แปลกใหม่เพื่อสร้างความน่าสนใจให้แก่การแสดง เช่น การใช้ตลกเชื่อมเรื่อง การใช้ระบำเป็นสัญลักษณ์
การสืบทอดขนบและการสร้างสรรค์ทำให้บทโขนของเสรี หวังในธรรมมีการรักษาลักษณะที่มีมาแต่เดิมผสมกับลักษณะที่แปลกใหม่ มีคุณค่าอย่างยิ่งในฐานะวรรณคดีการแสดง กล่าวคือ 1.คุณค่าด้านวรรณศิลป์ ได้แก่ การใช้ภาษาที่มีความไพเราะสละสลวย การใช้ความเปรียบ และการใช้โวหารจินตภาพ 2.คุณค่าด้านเนื้อหา ได้แก่ บทโขนนำเสนอเนื้อหาให้ผู้ชมเข้าใจง่าย บทโขนมีเนื้อหาหลากหลายมีส่วนในการสืบทอดเนื้อหาเรื่องรามเกียรติ์ให้เป็นที่รู้จักในสังคม บทโขนให้ความรู้แก่ผู้ชม และบทโขนให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ชม และ3.คุณค่าด้านการแสดง ได้แก่ บทโขนมีการผสานกระบวนแสดงแบบขนบและความแปลกใหม่ได้อย่างกลมกลืน และบทโขนตอบสนองความบันเทิงแก่ผู้ชมยุคใหม่ บทโขนของเสรี หวังในธรรมจึงเป็นบทโขนที่มีคุณค่าอย่างยิ่งในการสืบทอดเรื่องรามเกียรติ์ในสังคมไทยและสืบทอดสืบทอดศิลปะการแสดงโขนให้สามารถดำรงอยู่ได้ในสังคมไทยร่วมสมัย