Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลของซีเมนต์ชนิดซิงค์ฟอสเฟตซีเมนต์ (ZC) ซิงค์โพลีคาร์บอกซิเลตซีเมนต์ (ZPC) กลาสไอโอโนเมอร์ซีเมนต์ชนิดดั้งเดิม (GI) เรซินมอดิฟายด์กลาสไอโอโนเมอร์ซีเมนต์ชนิดผงและน้ำ (RMGI-P/L) เรซินมอดิฟายด์กลาสไอโอโนเมอร์ซีเมนต์ชนิดสองหลอด (RMGI-P/P) และโพลีแอซิดมอดิฟายด์คอมโพสิตเรซิน (PMCR) ต่อการยับยั้งการสูญเสียแร่ธาตุที่ผิวเคลือบฟันบริเวณขอบของแถบรัดฟัน
เป็นการศึกษาในห้องปฏิบัติการโดยใช้ฟันกรามน้อยแท้ของมนุษย์จำนวน 70 ซี่ ทำการขัดผิวเคลือบฟัน และสร้างช่องหน้าต่างทดลองบริเวณกึ่งกลางของด้านไกลกลางขนาด 1 x 2 ตารางมิลลิเมตร แบ่งฟันเป็น 7 กลุ่ม เพื่อยึดด้วย; (1) ZC (Zinc Cement Improved®), (2) ZPC (Hy-Bond Polycarboxylate Cement®), (3) GI (Hy-Bond Glasionomer CX®), (4) RMGI-P/L (GC Fuji Ortho LC®), (5) RMGI-P/P (GC Fuji Ortho Band Paste Pak®), (6) PMCR (Ultra Band-Lok®) และ (7) กลุ่มควบคุมที่ไม่ได้ยึดแถบรัดฟัน (Control) จากนั้นจำลองภาวะอุณหภูมิร้อนเย็นในช่องปาก 24 ชั่วโมง และภาวะการสูญเสียและคืนกลับแร่ธาตุ 21 วัน ทำการรื้อแถบรัดฟันและกำจัดซีเมนต์ก่อนนำชิ้นงานทั้งหมดวัดค่าร้อยละการสูญเสียฟลูออเรสเซนส์บริเวณช่องหน้าต่างทดลอง (∆F), ค่าร้อยละการสูญเสียฟลูออเรสเซนส์สูงสุดบริเวณช่องหน้าต่างทดลอง (∆Fmax) ค่าพื้นที่ที่เกิดการสูญเสียฟลูออเรสเซนส์ (Area) และปริมาตรของเคลือบฟันที่สูญเสียแร่ธาตุ (∆Q) ด้วยเทคนิควิเคราะห์การเรืองแสงเชิงปริมาณด้วยการใช้แสงกระตุ้นชนิดดิจิตอล
จากการวิเคราะห์ด้วยสถิติ Kruskal-Wallis test พบความแตกต่างของค่าเฉลี่ย ∆F, ∆Fmax, Area และ ∆Q ของซีเมนต์แต่ละกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.001) เมื่อหาความแตกต่างทางสถิติในแต่ละคู่โดยใช้สถิติ Pairwise comparisons ไม่พบความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของค่าเฉลี่ย ∆F, ∆Fmax, Area และ ∆Q เมื่อจับคู่เปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม Control:PMCR, ZP:ZPC, ZP:GI, ZP:RMGI-P/L, ZP:RMGI-P/P, ZPC:GI, ZPC:RMGI-P/L, ZPC:RMGI-P/P, GI:RMGI-P/L, GI:RMGI-P/P, RMGI-P/L:RMGI-P/P และ RMGI-P/L:PMCR แต่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อจับคู่เปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม Control:ZP, Control:ZPC, Control:GI, Control:RMGI-P/L และ Control: RMGI-P/P, PMCR:ZC, PMCR:ZPC, PMCR:GI และ PMCR:RMGI-P/P
การศึกษาในครั้งนี้พบว่าฟันซึ่งยึดแถบรัดฟันด้วย ZC, ZPC, GI และ RMGI-P/P ไม่เกิดการสูญเสียแร่ธาตุที่ผิวเคลือบฟันบริเวณขอบของแถบรัดฟัน ส่วนกลุ่ม RMGI-P/L, PMCR และกลุ่มควบคุมเกิดการสูญเสียแร่ธาตุที่ผิวเคลือบฟัน โดยที่กลุ่ม RMGI-P/L เกิดการสูญเสียแร่ธาตุน้อยกว่ากลุ่มควบคุม แต่กลุ่ม PMCR เกิดการสูญเสียแร่ธาตุไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม