Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เสนอให้มีการนำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้เป็นทางเลือกควบคู่กับการดำเนินคดีอาญาสำหรับการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 50 และ 54 ของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เนื่องจากมาตรฐานการพิสูจน์ในกระบวนการดำเนินคดีอาญาไม่เหมาะสมกับพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนกฎหมายแข่งขันทางการค้า ทั้งนี้ สามารถจะสังเกตได้ว่าจนถึงปัจจุบันยังไม่เคยปรากฏว่ามีคำพิพากษาที่ลงโทษพฤติกรรมที่มีโทษทางอาญาตามกฎหมายแข่งขันทางการค้ามาก่อน ในการศึกษาผู้เขียนได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบแนวคิดของมาตรการลงโทษทางแพ่งในระบบกฎหมายของประเทศไทย ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศออสเตรเลียมาประกอบกับแนวคิดของมาตรการลงโทษทางการเงินตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของสหภาพยุโรปและของประเทศเยอรมนี
การศึกษาดังกล่าวพบว่าการนำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาปรับใช้เป็นทางเลือกควบคู่กับการดำเนินคดีอาญาจะทำให้สามารถลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดได้ดีขึ้น แต่จำเป็นที่จะต้องมีการบัญญัติสิทธิของจำเลยในกระบวนการดำเนินคดีมาตรการลงโทษทางแพ่งให้เป็นเช่นเดียวกับสิทธิของจำเลยในกระบวนการดำเนินคดีทางอาญา ส่วนการปรับใช้มาตรการทางโทษแพ่งกับพฤติกรรมที่มีโทษทางปกครองนั้น ผู้เขียนเห็นว่าไม่เหมาะสมเพราะผู้มีสิทธิฟ้องคดีในกระบวนการดำเนินคดีมาตรการลงโทษทางแพ่งและผู้มีสิทธิฟ้องคดีในกระบวนการดำเนินคดีปกครองนั้นต่างกัน ในการกระบวนการดำเนินคดีมาตรการลงโทษทางแพ่งรัฐเท่านั้นที่จะสามารถฟ้องคดีได้ ในขณะที่ในกระบวนการดำเนินคดีทางปกครอง ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง คือ ปัจเจกชนที่ทำการโต้แย้งคำสั่งทางปกครอง อนึ่ง สภาพบังคับของมาตรการลงโทษทางแพ่งจะประกอบไปด้วยค่าปรับทางแพ่ง การเรียกคืนกำไรที่ได้ไปจากการกระทำความผิด และการชดเชยเงินที่หน่วยงานของรัฐได้ใช้ไปเพื่อตรวจสอบการกระทำความผิด