Abstract:
ในปี 2561 ร่างพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล พ.ศ. .... ได้ผ่านการอนุมัติโดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว โดยเหตุผลในการตราร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวก็เพื่อนำทรัสต์มาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล ในวิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษาปัญหาเกี่ยวกับความเป็นสัญญาของทรัสต์ โดยมีสมมติฐานว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับความเป็นนิติกรรมสัญญา สถานะทางกฎหมายของกองทรัสต์ และลักษณะสิทธิเหนือกองทรัสต์ของทรัสตีและผู้รับประโยชน์ ดังนั้นจึงควรมีการปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อให้สามารถปรับใช้หลักการของทรัสต์ได้เป็นระบบและเหมาะสม และในการศึกษาวิจัยนี้ได้ใช้ระเบียบวิธีการศึกษาแบบวิธีการค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลแบบวิจัยเอกสาร และได้ศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายทรัสต์ของอังกฤษ โรมัน และญี่ปุ่น
ผลการศึกษาพบว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวข้างต้น ให้คำนิยามของคำว่า “ทรัสต์” ไม่ครบถ้วนเพราะไม่ครอบคลุมถึงบ่อเกิดของทรัสต์โดยพินัยกรรม และมิได้บัญญัติในส่วนของประเด็นมูลฐานของนิติกรรมสัญญาหลายประเด็น จะต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปมาปรับใช้เพื่ออุดช่องว่างของกฎหมาย นอกจากนี้ มิได้ปรากฏชัดเจนว่ากองทรัสต์มีสถานะทางกฎหมายอย่างไร พบว่า ทรัสต์เป็นกองทรัพย์สิน แต่มิใช่กองทรัพย์สินโดยทั่วไป การพิจารณาลักษณะของกองทรัสต์ต้องพิจารณามาตรา 12 (2) ประกอบมาตรา 28 วรรคสอง และมาตรา 53 อีกประการหนึ่ง คือ ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับลักษณะสิทธิหนือกองทรัสต์ของทรัสตีและผู้รับประโยชน์ พบว่า ทรัสตีเป็นเจ้าของกองทรัสต์ ดังนั้นจึงมีลักษณะเป็นทรัพยสิทธิ แต่เป็นทรัพยสิทธิที่มีการจำกัดอำนาจกรรมสิทธิ์เฉพาะตามที่ร่างพระราชบัญญัติกำหนด ส่วนผู้รับประโยชน์มิใช่ผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของกองทรัสต์ จึงมีลักษณะเป็นบุคคลสิทธิ โดยสิทธิติดตามเอาทรัพย์สินคืนจากบุคคลภายนอกตามมาตรา 47 วรรคสอง มิได้มีฐานจากกรรมสิทธิ์ แต่เป็นสิทธิที่ร่างกฎหมายกำหนดไว้เฉพาะกรณีที่ทรัสตีจัดการกองทรัสต์โดยมิชอบ ดังนั้นจึงสมควรแก้ไขถ้อยคำบางประการตามมาตรา 3 มาตรา 47 วรรคสองและมาตราอื่นที่เกี่ยวขัอง รวมทั้งเพิ่มเติมบทบัญญัติเฉพาะเกี่ยวกับทรัพยสิทธิของทรัสตี