Abstract:
วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา มาตรการทางกฎหมายในการปฏิบัติต่อผู้ต้องโทษซึ่งป่วยทางจิตภายหลังศาลพิพากษาโดยศึกษาสภาพปัญหาการบังคับตามคำพิพากษาที่ไม่สามารถคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องโทษที่ป่วยทางจิตได้ตามกฎหมายไทยและมาตรการกฎหมายในกระบวนการชั้นราชทัณฑ์ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องโทษจำคุกที่ป่วยทางจิต โดยศึกษาแนวคิดและแนวทางของต่างประเทศ เพื่อวิเคราะห์และแสวงหามาตรการทางกฎหมายที่เหมาะสมนำมาปรับปรุงแก้ไขอันทำให้สามารถให้ความคุ้มครองแก่ผู้ป่วยทางจิตและสังคมมากขึ้น มาตรการกฎหมายในการปฏิบัติต่อผู้ต้องโทษที่ป่วยทางจิตภายหลังศาลพิพากษา ในด้านการบังคับตามคำพิพากษากรณีผู้ต้องโทษเพิ่งปรากฏอาการป่วยทางจิตหลังมีคำพิพากษาตามกฎหมายไทยนั้น ยังมีข้อบกพร่องบางประการที่ไม่สามารถคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องโทษที่ป่วยทางจิต เนื่องจากกฎหมายไม่ให้อำนาจแก่ศาลในการสั่งทุเลาการบังคับโทษกักขังได้ และกรณีศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับโทษจำคุกกรณีที่จำเลยวิกลจริตยังไม่มีการประกาศกำหนดให้สถานบำบัดทางจิตเป็นสถานที่อันควรนอกเรือนจำที่ใช้ในการทุเลาการบังคับโทษจำคุกสำหรับจำเลยที่วิกลจริต อีกทั้งมาตรการในการดำเนินการในชั้นราชทัณฑ์ ไม่มีการกำหนดกรอบระยะเวลาในการส่งตัวผู้ต้องโทษที่ป่วยทางจิตไปรักษานอกเรือนจำ และไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการรับดูแลผู้ป่วยดังกล่าวโดยบุคคลอื่น อันทำให้ไม่สามารถให้ความคุ้มครองแก่ผู้ต้องโทษที่ป่วยทางจิตได้ ด้วยเหตุที่กล่าวมาในข้างต้น จึงขอเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 โดยกำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับโทษกักขังได้ในกรณีจำเลยวิกลจริต และกำหนดให้สถานบำบัดทางจิตเป็นสถานที่อันควรนอกเรือนจำที่ใช้ในการทุเลาการบังคับโทษจำคุกสำหรับจำเลยที่วิกลจริต และเพิ่มเติมมาตรการให้บุคคลที่ป่วยทางจิตมีผู้รับดูแลและมีการติดตามดูแลหลังจากปล่อยตัวออกจากสถานบำบัด ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะทำให้สามารถให้การคุ้มครองผู้ต้องโทษที่ป่วยทางจิตให้ได้รับการรักษาอาการป่วยทางจิตของตนและช่วยคุ้มครองสังคมจากการกระทำความผิดของบุคคลที่ป่วยทางจิตมากขึ้น