Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาถึงการกำหนดโทษทางอาญาในกฎหมายควบคุมมลพิษของประเทศไทย โดยโรงงานอุตสาหกรรมก่อให้เกิดทั้งมลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำและมลพิษที่เกี่ยวกับของเสียอันตราย อันก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ในวงกว้าง ซึ่งถือได้ว่าการที่โรงงานอุตสาหกรรมก่อให้เกิดมลพิษดังกล่าวเป็นการก่ออาชญากรรมสิ่งแวดล้อมขึ้นแล้ว จึงสมควรแก่การนำโทษทางอาญามาบังคับใช้ในการป้องกันและปราบปรามกรณีที่โรงงานอุตสาหกรรมได้ก่อให้เกิดมลพิษขึ้น จากการศึกษาเป็นที่ประจักษ์ว่า ลักษณะการกระทำความผิดทางอาญาที่ปรากฏในกฎหมายควบคุมมลพิษของทั้งประเทศไทย ประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและประเทศสหรัฐอเมริกาประกอบด้วย 3 ประการ โดยการกำหนดโทษทางอาญาสำหรับความผิดเนื่องจากการก่อให้เกิดมลพิษและความผิดฐานละเว้นไม่ปฏิบัติตามมาตรการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมีบทบาทสำคัญในการป้องกันและปราบปรามการก่อมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในขณะเดียวกันการกำหนดโทษทางอาญาสำหรับความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งที่เจ้าหน้าที่รัฐกำหนดนั้นไม่เหมาะสมต่อความรุนแรงของการกระทำความผิดและไม่เป็นไปตามแนวคิดอาชญากรรมสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด ด้วยเหตุตามที่กล่าวข้างต้น ผู้เขียนจึงขอเสนอแนะให้ประเทศไทยสมควรกำหนดโทษทางปกครองหรือกำหนดค่าปรับเป็นพินัยสำหรับความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งที่เจ้าหน้าที่รัฐกำหนดแทนโทษทางอาญาที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายควบคุมมลพิษในปัจจุบัน เพื่อให้สอดคล้องกับความร้ายแรงของการกระทำและตามแนวทางของกฎหมายควบคุมมลพิษของต่างประเทศ