Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ภูมิปัญญาผ้าฝ้ายลาวครั่งของอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เพื่อใช้ในการออกแบบเรขศิลป์สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ของอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี 2) เพื่อพัฒนาตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ใหม่ของอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี โดยใช้กลยุทธ์มหาสมุทรสีคราม (Blue Ocean Strategy) 3) เพื่อหาแนวทางการออกแบบเรขศิลป์ โดยใช้กลยุทธ์การตลาดโชคลาง (Superstitious Marketing Strategy) การดำเนินการวิจัยใช้วิธีแบบผสมผสาน (Mixed Methodology) โดยนำด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ด้วยการเก็บข้อมูลโดยการลงพื้นที่ชุมชนทอผ้าฝ้ายลาวครั่ง ด้วยวิธีสังเกตการณ์ การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) จัดสนทนากลุ่ม (Focus Group) รวมถึงใช้วิธีเดลฟายประยุกต์ (Delphi) จากเจ้าพนักงานพัฒนาชุมชนชำนาญงาน อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี 1 ท่าน ผู้ให้ข้อมูลหลัก (Key Informant) 1 ท่าน และผู้รู้ด้านผ้าฝ้ายลาวครั่งในชุมชนทอผ้าฝ้ายลาวครั่ง อำเภอบ้านไร่ 23 ท่าน และยังสัมภาษณ์เชิงลึกผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นนักออกแบบที่มีประสบการณ์สูงและมีความเชี่ยวชาญด้านการสร้างตราสินค้าและการทำตลาด 3 ท่าน ที่ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) และการอ้างอิงแบบต่อเนื่อง (Snowball Sampling) และเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ดดยอาศัยแบบสอบถาม 3 ชุด ที่ผ่านการประเมินค่าความสอดคล้องของข้อคำถามในแบบสอบถามกับวัตถุประสงค์การวิจัย หรือ Index of item-objective Congruence (I.O.C) ด้วยค่า 0.64, 0.90, 1.0 ตามลำดับ ไปเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งคือกลุ่มเจเนอเรชันวายไทยที่เกิดปี พ.ศ. 2525-2538 ที่ได้มาจากการเลือโดยบังเอิญ (Accident Sampling) และการอ้างอิงแบบต่อเนื่อง โดยใช้วิธีกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างด้วยตารางสำเร็จรูปของ Yamane (1967) เมื่อไม่ทราบจำนวนประชากรที่ระดับความเชื่อมั่น 95% คือจำนวน 400 คน และเก็บได้สมบูรณ์ในเวลาที่กำหนด จำนวน 133 คน สำหรับแบบสอบถามชุดที่ 1 (เพื่อโหวตเลือกชื่อตราสินค้า) จำนวน 210 คน สำหรับแบบสอบถามชุดที่ 2 (เพื่อโหวตเลือกแนวทางการออกแบบผลิตภัณฑ์) และจำนวน 214 คน สำหรับแบบสอบถามชุดที่ 3 (เพื่อโหวตเลือกตราสัญลักษณ์) การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการสังเคราะห์ข้อมูลโดยจำแนกให้เป็นหมวดหมู่และนำข้อมูลมาถอดความเพื่อนำมาใช้ในการออกแบบผลงานศิลปะ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณทำโดยการหาค่าทางสถิติเชิงบรรยาย (ความถี่ ร้อยละ) พบว่า ภูมิปัญญาผ้าฝ้ายลาวครั่งของอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เพื่อใช้ในการออกแบบเรขศิลป์ สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ของอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ได้แก่ 1) ลวดลายจกของผ้าฝ้ายลาวครั่งใน 3 หมวดหมู่ที่เป็นเครื่องรางและสิริมงคล และ 2) กลุ่มสีสันฟลูออเรสเซนต์ งานวิจัยนี้ยังได้คำตอบของผลิตภัณฑ์และกลุ่มลูกค้าปัจจุบันของชุมชนทอผ้าฝ้ายลาวครั่ง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ที่นำมาเป็นข้อมูลสำคัญในการวิเคราะห์หากลุ่มเป้าหมายใหม่ และในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ใหม่ซึ่งเป็นการพัฒนาตลาดใหม่ให้กับชุมชนทอผ้าฝ้ายลาวครั่ง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ตามแนวทางของกลยุทธ์มหาสมุทรสีคราม สำหรับผลคำตอบเรื่องแนวทางการออกแบบเรขศิลป์โดยใช้กลยุทธ์การตลาดโชคลาง ได้แก่ การออกแบบชื่อตราสินค้าใหม่ การกำหนด 6 องค์ประกอบในการสร้างตราสินค้า การออกแบบผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ การออกแบบตราสัญลักษณ์ และการออกแบบภาพกราฟิกที่สื่อสารอัตลักษณ์ (Identity Graphic) งานออกแบบทั้งหมดนี้ใช้แนวคิดรวบยอดของการออกแบบ (Design Concept) เรื่องความเชื่อโชคลาง ซึ่งมีที่มาจากกลยุทธ์การตลาดโชคลางซึ่งเป็นกลยุทธ์หลักของงานวิจัยนี้ องค์ความรู้ใหม่ที่พบคือ "แนวทางเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ที่มีรากวัฒนธรรมเพื่อชุมชน โดยใช้แนวคิดจากภูมิปัญญาวัฒนธรรมท้องถิ่นและแนวโน้มความนิยมของตลาด" ผู้ประกอบการในชุมชนอื่น ๆ ที่มีภูมิปัญญาพื้นถิ่นของวัฒนธรรมอื่น ๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ดี โดยการนำองค์ความรู้ใหม่ไปใช้กับชุมชนให้ประสบความสำเร็จต้องอาศัยกระบวนการที่ชาวชุมชนให้ความร่วมมือต่อการทำวิจัย (Community Participation Process) (Disatapundhu and others. 2019) 3 ขั้นตอนหลัก เรียงตามลำดับ ได้แก่ 1) การมีทัศนคติที่ดีและเปิดรับต่อการพัฒนาใหม่ ๆ (Attitude) 2) การมีความเข้าใจและพร้อมที่จะเรียนรู้ไปด้วยกัน (Understanding and Knowledge) และ 3) ผู้วิจัยและชาวชุมชนได้มีประสบการณ์ในการพัฒนาร่วมกัน (Hands-on experiences)