Abstract:
สื่อบันเทิงคดีไทยประเภทละครและภาพยนตร์เชิงย้อนยุคมักเล่าเรื่องราวของชนชั้นปกครองภายในราชสำนัก ตัวละครหลักมักเป็นกษัตริย์ เจ้านาย หรือทหารชั้นผู้ใหญ่ หนึ่งในตัวละครที่นานครั้งจะได้รับการกล่าวถึงคือตัวละครขันที โดยในสื่อบันเทิงคดีไทยตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน (2563) มีเพียง 3 เรื่องเท่านั้น ได้แก่ ภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท (2544) ละครโทรทัศน์เรื่อง ศรีอโยธยา (2560 – 2561) และละครโทรทัศน์เรื่อง หนึ่งด้าวฟ้าเดียว (2561) การวิจัยนี้แสดงการเปรียบเทียบภาพแทนของขันทีในสื่อบันเทิงคดีและขันทีในประวัติศาสตร์ไทย รวมถึงวิเคราะห์การสร้างตัวละครและการเล่าเรื่อง โดยเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ศึกษาด้วยวิธีวิเคราะห์ตัวบท (Content Analysis)
ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าภาพแทนของขันทีในสื่อบันเทิงคดีไทยนั้นมีความแตกต่างกับขันทีที่ปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โดยจะแตกต่างไปตามความตั้งใจของผู้สร้างสื่อเรื่องนั้นๆ ซึ่งมีที่มาจากการตีความประวัติศาสตร์และอ้างอิงจากงานที่สร้างมาก่อนหน้า แต่จุดร่วมคือ ความเป็นอื่น (Otherness) และความเควียร์ (Queerness) ส่งผลให้ขันทีสามารถเข้าถึงองค์ความรู้จำเพาะและได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากกลุ่มคนอื่นในสังคม และถึงแม้ว่าทั้งสามเรื่องจะมีเนื้อหาช่วงเวลาเดียวกัน แต่กลับมีกลวิธีการเล่าเรื่องที่แตกต่างกัน ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับจุดประสงค์การเล่าเรื่องและรูปแบบของการถ่ายทอดเรื่องราว ทั้งหมดต่างมีวัตถุประสงค์เดียวกันในการสื่อสารเพื่อสรรเสริญสถาบันกษัตริย์ในประวัติศาสตร์ไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน