Abstract:
งานวิจัยฉบับนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพซึ่งใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) อธิบายและวิเคราะห์พัฒนาการของเทคนิคการสร้างภาพพิเศษในภาพยนตร์ไทย ในช่วง พ.ศ. 2470 ถึง พ.ศ. 2563 2) วิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการดังกล่าว และ 3) รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการสร้างภาพพิเศษในภาพยนตร์ไทย และขยายองค์ความรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์ไทยไปสู่มิติอื่น ๆ นอกเหนือจากขนบประวัติศาสตร์นิพนธ์ภาพยนตร์ไทยที่มีอยู่เดิม โดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการวิจัยเอกสารเกี่ยวกับภาพยนตร์ไทย ร่วมกับการสัมภาษณ์เชิงลึกบุคลากรที่มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย
ผลการวิจัยพบว่า พัฒนาการในด้านรูปแบบ เทคโนโลยี และการใช้งาน ของเทคนิคการสร้างภาพพิเศษในภาพยนตร์ไทย ในช่วง พ.ศ. 2470 ถึง พ.ศ. 2563 สามารถแบ่งออกเป็นเจ็ดยุคสมัย ได้แก่ 1) ยุคบุกเบิก (พ.ศ. 2470–2499) 2) ยุคเติบโต (พ.ศ. 2500–2514) 3) ยุครุ่งเรือง (พ.ศ. 2515–2528) 4) ยุคบูรณาการ (พ.ศ. 2529–2536) 5) ยุคคอมพิวเตอร์ (พ.ศ. 2537–2546) 6) ยุคเปลี่ยนผ่าน (พ.ศ. 2547–2554) และ 7) ยุคนวัตกรรม (พ.ศ. 2555–2563) โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการดังกล่าวเจ็ดปัจจัย ได้แก่ 1) บุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ 2) ความพร้อมของกระบวนการสร้างภาพยนตร์ 3) กลยุทธ์การสื่อสารการตลาดของภาพยนตร์ 4) เทคโนโลยีการถ่ายทำภาพยนตร์และเทคนิคการสร้างภาพพิเศษ 5) เสียงตอบรับจากผู้ชมภาพยนตร์ 6) การสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และ 7) ภาวะเศรษฐกิจและสังคม
จากการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการสร้างภาพพิเศษในภาพยนตร์ไทยแสดงให้เห็นว่า เทคนิคการสร้างภาพพิเศษในภาพยนตร์ไทยมีพัฒนาการตามยุคสมัยและมีปัจจัยที่หลากหลาย โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อพัฒนาการมากที่สุดคือ "บุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์" ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยได้แสดงศักยภาพในการพัฒนาเทคนิคการสร้างภาพพิเศษในภาพยนตร์ไทยอย่างมีคุณภาพ แต่ยังคงมีอุปสรรคมากมายที่สะสมจนกลายเป็นวงจรปัญหาที่ท้าทายพัฒนาการของเทคนิคการสร้างภาพพิเศษในภาพยนตร์ไทย