Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเล่าเรื่องและการสร้างตัวละครหลักของละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกคอมเมดี้ตามแบบฉบับละครช่อง 7HD โดยศึกษาละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกคอมเมดี้จำนวน 5 เรื่อง ซึ่งออกอากาศทางช่อง 7HD ในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 งานวิจัยนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพทั้งการวิเคราะห์เนื้อหาละครและการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ผลิตละคร ได้แก่ ผู้จัดละคร ผู้กำกับการแสดงและผู้เขียนบทละคร
ผลการวิจัยพบว่า การเล่าเรื่องของละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกคอมเมดี้ทั้ง 5 เรื่อง ส่วนใหญ่นำเสนอเรื่องราวที่มีแก่นเรื่องเกี่ยวกับความรักและศีลธรรมเป็นหลัก ซึ่งนอกจากความรักของตัวละครหลักแล้วยังนำเสนอเรื่องราวที่สอดคล้องกับความรักความผูกพันภายในครอบครัวด้วย การดำเนินเรื่องราวมีโครงเรื่องไม่ซับซ้อนอาศัยความขัดแย้งระหว่างบุคคล ความขัดแย้งภายในจิตใจเป็นหลัก แต่สำหรับละครบางเรื่องมีการใช้ความขัดแย้งประเภทพลังธรรมชาติและพลังเหนือธรรมชาติเข้ามาผสมผสานด้วย ส่วนมุมมองการเล่าเรื่องอาศัยการเล่าเรื่องแบบผู้รอบรู้เป็นหลักสำคัญตลอดการเล่าเรื่องราวประกอบกับการเล่าเรื่องแบบความทรงจำในอดีตของตัวละครเป็นบางช่วง เพื่อให้การเล่าเรื่องมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
การสร้างตัวละครหลัก แต่ละตัวละครจะมีทั้งคุณลักษณะของตัวละคร ได้แก่ ลักษณะทางกายภาพ ประเภทและรายละเอียดของลักษณะนิสัย และเรื่องราวของตัวละคร ได้แก่ สถานภาพ อาชีพ ลักษณะทางสังคม ความเชื่อและทัศนคติ เป้าหมายของตัวละคร ปรากฏให้เห็นแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับเรื่องราวของละคร โดยภาพรวมของตัวละครหลักพบว่า ลักษณะทางกายภาพของตัวละครมีความหลากหลายมากขึ้นอย่างชัดเจน หน้าตาของพระเอกและนางเอกมีทั้งแบบไทยและแบบลูกครึ่งต่างชาติ ส่วนลักษณะนิสัยของตัวละครหลัก พระเอกเป็นคนจิตใจดี สุภาพบุรุษ แสดงออกชัดเจนตรงไปตรงมา รักครอบครัวและรักเดียวใจเดียว นางเอกเป็นคนจิตใจดี ฉลาดทันคน ค่อนข้างเข้มแข็ง มีเหตุผลและแสดงออกชัดเจนตรงไปตรงมาเช่นเดียวกัน
ละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกคอมเมดี้ตามแบบฉบับละครช่อง 7HD พบสูตรการสร้างสรรค์ละคร 2 สูตร ได้แก่ สูตรที่ 1 ละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกคอมเมดี้ที่มีสัดส่วนของโรแมนติกคอมเมดี้เป็นหลักและสูตรที่ 2 ละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกคอมเมดี้ที่มีส่วนผสมของแนวเรื่องประเภทอื่น โดยความถนัดของผู้กำกับละครแต่ละคนมีผลต่อการสร้างสรรค์ละครแนวนี้และในอนาคตมีแนวโน้มของการสร้างสรรค์บทละครแบบเขียนขึ้นใหม่มากกว่าการใช้เค้าโครงเรื่องเก่า