Abstract:
งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงผสมผสาน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) คุณลักษณะของเนื้อหาสาร 2) การสื่อสารแบรนด์บุคคล และ 3) ความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อหาสารกับการสื่อสารแบรนด์บุคคลของผู้ใช้งานแอปพลิเคชันติ๊กต๊อกในแคมเปญติ๊กต๊อกยูนิ ผู้วิจัยศึกษาวิดีโอสั้นจากผู้ใช้งาน 63 คนโดยดูรูปแบบการนำเสนอเชิงวัจนภาษาและเชิงอวัจนภาษา และการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ใช้งานเพิ่มเติม 5 คน โดยสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง
ผลการวิจัยพบว่า 1) คุณลักษณะของเนื้อหาสารรูปแบบการนำเสนอเชิงวัจนภาษาและอวัจนภาษาปรากฏการใช้แฮชแท็กทุกผู้ใช้งาน รองลงมาเป็นการใช้ตัวอักษร การบรรยายด้วยภาษาเขียน การบรรยายด้วยภาษาพูด การใช้เสียงเพลง ดนตรี หรือเสียงประกอบ มุมกล้อง รูปภาพ วิดีโอ หรือภาพเคลื่อนไหว ปก สัญลักษณ์หรืออีโมจิ และเอฟเฟ็กต์หรือลูกเล่นที่กำหนดให้ 2) การสื่อสารแบรนด์บุคคลพบว่า (1) การสำรวจค้นหา สะท้อนจากอัตลักษณ์เชิงประโยชน์มากที่สุด เช่น วิธีการสอนที่ง่ายต่อการจดจำ อัตลักษณ์จากรูปร่างและการแต่งกาย เช่น การแต่งกายที่สะท้อนบุคลิกภาพของผู้ใช้งาน และอัตลักษณ์เชิงพฤติกรรม เช่น การใช้แฮชแท็กประจำตัว (2) การสร้าง พบความจริงใจมากที่สุดจากการนำเสนอเนื้อหาสารที่เป็นประโยชน์ ความตื่นเต้น จากการนำเสนอเนื้อหาที่ได้รับความนิยม ความรู้สึกน่าเชื่อถือ เช่น การแต่งกายที่สะท้อนความเป็นวิชาการ และความรู้สึกน่าดึงดูดใจ เช่น การใช้เอฟเฟ็กต์หรือลูกเล่น (3) การสื่อสาร พบว่ามีการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้รับสาร เช่น การใช้เครื่องมือตอบกลับ การออกแบบเนื้อหาสารตามกระแสสังคมและตามความถนัด การใช้เครื่องมือเข้าคู่ การใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในการสร้างความสวยงามและน่าสนใจและนำเสนอบุคลิกภาพตนเอง (การพูด ลักษณะท่าทาง) (4) การรักษาคงไว้ พบว่ามีการนำเสนอบุคคลอื่นร่วมด้วย สร้างกิจกรรมให้ผู้รับสารมีส่วนร่วม เช่น เชิญชวนให้แสดงความคิดเห็น การบรรยายด้วยภาษาเขียนในการตั้งคำถาม นำเสนอช่องทางติดตามอื่น และนำเสนอตนเองหรือเนื้อหาสารใกล้เคียงกันทุกช่อง ความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อหาสารกับการสื่อสารแบรนด์บุคคล พบว่า เนื้อหาสารกับการสื่อสารแบรนด์บุคคลไม่มีความสัมพันธ์กัน (sig. = .345) ขณะที่ในแต่ละองค์ประกอบย่อยของเชิงวัจนภาษาและอวัจนภาษา การบรรยายด้วยภาษาเขียนมีความสัมพันธ์กับการสื่อสารแบรนด์บุคคลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05