Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการสื่อสารในภาวะวิกฤตผ่านช่องทางสื่อสารทางออนไลน์ และเพื่อศึกษากลยุทธ์การบริหารจัดการการสื่อสารในภาวะวิกฤตของสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล ที่ได้รับคำสั่งปรับทางปกครอง จาก กสทช. หลังการรายงานข่าวคนร้ายจับตัวประกัน ที่จังหวัดนครราชสีมา ด้วยระเบียบวิธีวิจัยการเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสารต่าง ๆ (Documentary Research) และการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-Depth Interview) ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจ หรือผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบเกี่ยวกับกลยุทธ์การบริหารจัดการการสื่อสารในภาวะวิกฤต ของสถานีโทรทัศน์ช่องวัน 31 สถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี ช่อง 32 และสถานีโทรทัศน์อมรินทร์ ทีวี เอชดี ช่อง 34 พร้อมด้วยสัมภาษณ์แบบเจาะลึกผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารในภาวะวิกฤต และการบริหารจัดการองค์กรสื่อมวลชน รวมทั้งสิ้น 7 ท่าน
ผลการวิจัยจากการเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสารต่าง ๆ ในช่องทางออนไลน์ของทั้ง 3 สถานีฯ ได้แก่ เว็บไซต์ เฟซบุ๊กแฟนเพจ อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ พบว่า การสื่อสารในภาวะวิกฤตผ่านช่องทางสื่อสารทางออนไลน์นั้น มีเพียงสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลช่องเดียวที่ออกมาทำการสื่อสาร ด้วยกลยุทธ์การขออภัย (Excuse) ผ่านช่องทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ นอกจากนี้จากการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกพบว่า กลยุทธ์การบริหารจัดการการสื่อสารในภาวะวิกฤตของสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลทั้ง 3 สถานีฯ มีการดำเนินงานที่คล้ายกัน โดยไม่ได้มองว่าการได้รับคำสั่งปรับทางปกครอง หลังการรายงานข่าวคนร้ายจับตัวประกัน ที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นภาวะวิกฤตของสถานีฯ ซึ่งการบริหารจัดการภาวะวิกฤตจะดำเนินการโดยฝ่ายข่าว ในช่วงเวลาที่เกิดภาวะวิกฤตขึ้นกับองค์กรแล้ว อย่างไม่มีแผนงานและคู่มือ โดยจะมีทีมเฝ้าระวัง และเก็บข้อมูลกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเมื่อรับรู้วิกฤตจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม และได้รับคำแนะนำจากทางกสทช. ทางสถานีฯ ก็ได้ปรับรูปแบบของการทำงานด้วยการปรับลดโทนการรายงานข่าว และหยุดการรายงานข่าวด้วยโทรศัพท์มือถือในทันที ในทางกลับกันผู้เชี่ยวชาญกลับมองว่าการบริหารจัดการภาวะวิกฤตควรต้องดำเนินการโดยฝ่ายประชาสัมพันธ์ หรือฝ่ายสื่อสารองค์กร เนื่องจากจะมีความชำนาญในด้านการสื่อสารภาพลักษณ์และการจัดการภาวะวิกฤตมากกว่าฝ่ายข่าว อีกทั้งฝ่ายข่าวยังเป็นคู่กรณี ที่อาจจะความอคติ ไม่เที่ยงตรง หรือมีความรู้สึกอยากจะปกป้องตนเอง และควรนำเหตุการณ์ภาวะวิกฤตในครั้งนี้มาเป็นบทเรียน เพื่อดำเนินการวางแผนป้องกันการเกิดภาวะวิกฤตต่อสถานีฯ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ควรทำการฝึกฝนการรายงานข่าวในภาวะวิกฤต และจัดทำคู่มือให้ผู้สื่อข่าวและทีมข่าวเข้าใจถึงการทำงานที่ถูกต้อง อีกทั้งการรายงานข่าวจะต้องคำนึงถึงจรรยาบรรณในการนำเสนอเสมอ