Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการใช้ความเป็นจริงเสริมในการสื่อสารการตลาดที่มีต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคเจเนอเรชัน แซด มีตัวแปรที่ศึกษา ได้แก่ การรับรู้ความเสี่ยง ทัศนคติต่อตราสินค้า ความตั้งใจซื้อ มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจปัจจัยของความเป็นจริงเสริมในการสื่อสารการตลาดที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคเจเนอเรชันแซด ที่มีการวิจัยแบบผสมผสานประกอบด้วยการวิจัยกึ่งทดลอง กลุ่มตัวอย่างเป็นเจเนอเรชันแซดเพศหญิงที่มีอายุระหว่าง 18-25 ปี จำนวน 100 คน แบ่งเป็นกลุ่มควบคุมที่ดูรูปภาพสินค้าลิปสติกจำนวน 50 คนและกลุ่มทดลองที่ได้ทดลองสินค้าลิปสติกผ่านความเป็นจริงเสริมจำนวน 50 คน เก็บข้อมูลในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ. 2564 และใช้เทคนิคการสัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มทดลองที่ได้ใช้งานความเป็นจริงเสริมในการทดลองสินค้าลิปสติกโดยมีผู้ยินยอมให้สัมภาษณ์ จำนวน 36 คน โดยเก็บข้อมูลในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2564
ผลการทดลองพบว่า ความเป็นจริงเสริมมีผลต่อการรับรู้ความเสี่ยงด้านการเงิน ด้านประสิทธิภาพของสินค้าและความตั้งใจซื้อของผู้บริโภคเจเนอเรชันแซดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ซึ่งค่าเฉลี่ยการรับรู้ความเสี่ยงด้านการเงินลดลงจากก่อนการทดลองที่ 3.96 เหลือค่าเฉลี่ยหลังการทดลองที่ 2.70 (t = 5.957), การรับรู้ความเสี่ยงด้านประสิทธิภาพของสินค้ามีค่าเฉลี่ยลดลงโดยก่อนการทดลองมีค่าเฉลี่ย 3.94 และมีค่าเฉลี่ยหลังการทดลองที่ 2.86 (t = 5.645) , ความตั้งใจซื้อมีค่าเฉลี่ยก่อนการทดลองที่ 4.085 ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นหลังการทดลองเป็น 5.250 (t = -6.932) แต่ความเป็นจริงเสริมส่งผลต่อทัศนคติต่อตราสินค้าอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผลการสัมภาษณ์เชิงลึกพบว่าปัจจัยด้านการให้ข้อมูล การอำนวยความสะดวก ความสมจริงและความเสถียรของความเป็นจริงเสริมในแอปพลิเคชันมีผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภค