Abstract:
การคุกคามทางเพศถือเป็นพฤติกรรมที่ส่อในเรื่องเพศอย่างไม่เหมาะสม ก่อให้เกิดผลกระทบทางร่างกายและจิตใจต่อผู้ถูกกระทำ ถือเป็นปัญหาสังคมที่ขาดการป้องกันและแก้ไขเท่าที่ควร แต่พฤติกรรมไม่เหมาะสมนี้กลับได้รับการสื่อสารเป็นเนื้อหาในรายการเพื่อความบันเทิงไทยจนผู้รับชมคุ้นชิน การวิจัยนี้จึงเป็นการวิจัยเชิงผสม ประกอบด้วยการวิเคราะห์เนื้อหาและรายละเอียดรายการเพื่อความบันเทิงที่ปรากฏรูปแบบและคู่กรณีการคุกคามทางเพศ รวมถึงสำรวจการรับรู้เนื้อหาดังกล่าว, ทัศนคติและพฤติกรรมของผู้รับชมในฐานะผู้บริโภคสื่อต่อองค์กรธุรกิจสื่อบันเทิงที่สื่อสารเนื้อหาดังกล่าวด้วยแบบสอบถามออนไลน์
ผลการศึกษาพบว่า รายการเพื่อความบันเทิงไทยปรากฏเนื้อหาการคุกคามทางเพศด้วยวัจนภาษา (Verbal Harassment) มากที่สุด, อวัจนภาษา (Non-Verbal Harassment), รูปแบบอื่นๆ และทางร่างกาย (Physical Harassment) ตามลำดับ และปรากฏคู่กรณีการคุกคามทางเพศแบบชายคุกคามหญิง (Male Harasses Female), หญิงคุกคามชาย (Female Harasses Male), รักต่างเพศคุกคามรักร่วมเพศ (Heterosexual Harasses Homosexual), รักร่วมเพศคุกคามรักต่างเพศ (Homosexual Harasses Heterosexual) และคู่กรณีอื่นๆ พบว่าเพศชายเป็นผู้กระทำการคุกคามทางเพศมากที่สุด และเพศหญิงเป็นผู้ถูกคุกคามทางเพศมากที่สุด ด้วยสาเหตุ/จุดประสงค์ เพื่อสร้างความบันเทิงในการดำเนินรายการ, การแสดงทัศนคติต่อผู้ถูกคุกคาม, ความต้องการทางเพศของผู้คุกคาม และความเคยชินต่อการคุกคามทางเพศ ทั้งนี้องค์กรธุรกิจสื่อบันเทิงสื่อสารเนื้อหาดังกล่าวร่วมกับการทำให้เป็นเรื่องตลกขบขันผ่านเทคนิคการตัดต่อและลำดับภาพ เพื่อลดทอนความรุนแรงให้สามารถออกอากาศได้
กลุ่มตัวอย่างผู้รับชมในฐานะผู้บริโภคสื่อที่รับชมรายการเพื่อความบันเทิงเป็นประจำ 3 วันต่อสัปดาห์ อายุ 18 ขึ้นไป จำนวน 425 คน โดยส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุระหว่าง 24-34 ปี มีการศึกษาระดับปริญญาตรี และมีรายได้เฉลี่ย 10,001-20,000 บาท มีการรับรู้เนื้อหาดังกล่าวในระดับบ่อยๆ พบว่าผู้รับชมที่มีเพศแตกต่างกัน มีการรับรู้เนื้อหาดังกล่าวที่แตกต่างกัน ส่วนทัศนคติของผู้รับชมต่อองค์กรธุรกิจสื่อบันเทิงที่สื่อสารเนื้อหาดังกล่าวอยู่ในระดับไม่เห็นด้วย ซึ่งมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมของผู้รับชมต่อองค์กรฯ ที่อยู่ในระดับไม่เห็นด้วยเช่นเดียวกัน กล่าวคือ การสื่อสารเนื้อหาไม่เหมาะสมด้านการคุกคามทางเพศขององค์กรธุรกิจสื่อบันเทิง สามารถส่งผลกระทบต่อการสื่อสารองค์กรในด้านความนิยม และผลกำไรที่ลดลงขององค์กรฯ ในระยะยาว