Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นในการใช้ Living wall เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวดักจับฝุ่นละออง PM2.5 ที่เป็นปัญหาทางด้านมลพิษทางอากาศ ศึกษาการหาค่าสัมประสิทธิ์ในการบังแดดของพืชไม่ผลัดใบโดยเปรียบเทียบระหว่างพืชใบแคบ และใบกว้างและช่วยในการลดความร้อนจากภายนอกเข้าสู่ภายในอาคาร ซึ่งเป็นการลดการใช้พลังงานภายในอาคาร และการลดอุณหภูมิภายนอกที่มีการติดตั้งแผงบังแดด แผงบังแดดและต้นพลูด่าง แผงบังแดดและต้นเศรษฐีเรือนนอก การทดลองในงานวิจัยนี้แบ่งได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่ การลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก และการลดการแผ่รังสีจากดวงอาทิตย์เข้าสู่ตัวอาคาร สำหรับฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 ที่เป็นปัญหาในพื้นที่ที่มีการจราจรคับคั่ง เมื่อติดตั้ง Living wall จะสามารถลดปริมาณฝุ่นขนาดเล็กที่เข้าสู่ตัวอาคารได้ร้อยละ 17.96-20.95 Living wall สามารถลดการแผ่รังสีจากดวงอาทิตย์เข้าสู่ตัวอาคารได้ดี เมื่อติดตั้งในทิศตะวันตกจะสามารถลดอุณหภูมิภายในอาคารลงถึง 1.49-3.66 องศาเซลเซียส ซึ่งมีประสิทธิภาพในการลดอุณหภูมิในช่วงบ่ายดีกว่าช่วงเช้า โดยลักษณะใบของต้นพืชที่ใช้ในงานวิจัยนี้ไม่ส่งผลต่อการลดการถ่ายเทความร้อนเข้าสู่ตัวอาคารเนื่องจากค่า SC อยู่ในช่วง 0.05-6.06 ซึ่งไม่แตกต่างกัน เมื่อพิจารณาการใช้พลังงานตลอดทั้งปี และการลดฝุ่นขนาดเล็กที่เข้าสู่อาคาร ยังคงให้ผลดีกว่าการติดตั้งแผงบังแดดเพียงอย่างเดียว จากผลการทดลอง พบว่าพลูด่างสามารถลดค่าการใช้พลังงานไฟฟ้าถึงร้อยละ 11.08 โดยมีระยะเวลาคืนทุนเท่ากับ 1 ปี และมีค่าความหนาแน่นของพุ่มใบเท่ากับ 5.66 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐีเรือนนอกที่สามารถลดค่าการใช้พลังงานไฟฟ้าถึงร้อยละ 8.57 โดยมีระยะเวลาคืนทุนเท่ากับ 1 ปี และมีค่าความหนาแน่นของพุ่มใบเท่ากับ 2.4 จะพบว่าพลูด่างให้ผลการทดลองที่ดีที่สุดจึงเหมาะสำหรับการนำมาใช้เป็นพืชที่ปลูกในแผงบังแดดเพื่อลดความร้อนเข้าสู่ตัวอาคาร