Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาทัศนคติโดยรวมของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่มีต่อมาตรฐาน RSPO ศึกษาเปรียบเทียบโครงสร้างต้นทุนในการผลิตปาล์มน้ำมันระหว่างเกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรฐาน RSPO และเกษตรกรที่ไม่เข้าร่วมมาตรฐาน RSPO และเพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมมาตรฐาน RSPO ของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน รวมทั้ง ศึกษาถึงสาเหตุและข้อจำกัดที่เกษตรกรตัดสินใจไม่เข้าร่วมมาตรฐาน RSPO โดยการศึกษาในครั้งนี้ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่เข้าร่วมมาตรฐาน RSPO (กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนยูนิวานิช–ปลายพระยา) จำนวน 65 ราย และเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่ไม่เข้าร่วมมาตรฐาน RSPO จำนวน 65 ราย ในอำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ โดยใช้แบบสอบถามแล้วนำมาวิเคราะห์สถิติเชิงพรรณนาและเชิงอนุมาน
ผลการศึกษาพบว่า (1) เกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรฐาน RSPO และเกษตรกรที่ไม่เข้าร่วมมาตรฐาน RSPO มีทัศนคติต่อมาตรฐาน RSPO ที่แตกต่างกัน โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรฐาน RSPO ค่อนข้างมีทัศนคติเชิงบวกต่อมาตรฐาน RSPO แต่เกษตรกรที่ไม่เข้าร่วมมาตรฐาน RSPO มีทัศนคติเป็นกลางต่อมาตรฐาน RSPO ไปจนถึงค่อนข้างมีทัศนคติเชิงลบต่อมาตรฐาน RSPO (2) การเปรียบเทียบโครงสร้างต้นทุนในการผลิตปาล์มน้ำมัน พบว่า ต้นทุนรวมในการทำผลิตปาล์มน้ำมันของครัวเรือนที่เข้าร่วมมาตรฐาน RSPO ต่ำกว่าครัวเรือนที่ไม่เข้าร่วมมาตรฐาน RSPO อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเฉพาะ ครัวเรือนที่เข้าร่วมมาตรฐาน RSPO มีสัดส่วนต้นทุนค่าปุ๋ยและต้นทุนค่ายาฆ่าหญ้าและยาฆ่าแมลงต่ำกว่าครัวเรือนที่ไม่เข้าร่วมมาตรฐาน RSPO แต่ในส่วนของต้นทุนค่าดูแลรักษาสวนปาล์มน้ำมันกลับพบว่าครัวเรือนที่เข้าร่วมมาตรฐาน RSPO มีสัดส่วนต้นทุนค่าดูแลรักษาสวนปาล์มน้ำมันสูงกว่าครัวเรือนที่ไม่เข้าร่วมมาตรฐาน RSPO (3) ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมมาตรฐาน RSPO ของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ได้แก่ เพศของหัวหน้าครัวเรือน ระดับการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือน ทัศนคติเชิงบวกต่อมาตรฐาน RSPO และทัศนคติเชิงลบต่อมาตรฐาน RSPO และ(4) สาเหตุที่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันตัดสินใจไม่เข้าร่วมมาตรฐาน RSPO คือ เกษตรกรบางส่วนไม่รู้จักมาตรฐาน RSPO และสำหรับเกษตรกรที่รู้จักมาตรฐาน RSPO แต่ยังคงตัดสินใจไม่เข้าร่วมเนื่องมาจากหลายสาเหตุ เช่น เกษตรกรคิดว่ามาตรฐาน RSPO มีขั้นตอนยุ่งยากและซับซ้อน เกษตรกรมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับมาตรฐาน RSPO ในหลายประเด็น และเกษตรกรขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐาน RSPO เป็นต้น
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า เกษตรกรทั้งสองกลุ่มมีทัศคติต่อมาตรฐาน RSPO ที่แตกต่างกัน โดยปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรมีการตัดสินใจเข้าร่วมมาตรฐาน RSPO ที่แตกต่างกันเป็นผลมาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนและปัจจัยด้านทัศนคติของเกษตรกร ดังนั้นภาครัฐและหน่วยงานที่กำกับดูแลมาตรฐาน RSPO ควรเน้นการประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับมาตรฐาน RSPO แก่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน เนื่องจากเกษตรกรกำลังเผชิญปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูลและมีการรับรู้ข่าวสารที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ ควรเร่งผลักดันให้เกิดความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างโรงสกัดน้ำมันปาล์มและผู้ประกอบลานเทในพื้นที่เพื่อเป็นตัวกลางให้รับซื้อผลผลิตที่ผ่านมาตรฐาน RSPO