Abstract:
จุดประสงค์เพื่อศึกษาการใช้เซลล์ไฟโบรบลาสต์จากแผลเป็นหลังการผ่าตัดคลอด (HSFs) ในการเป็นเซลล์พี่เลี้ยงร่วมกับเซลล์ต้นกำเนิดพลูริโพเทนต์ของมนุษย์ (hPSCs) กลุ่มควบคุมคือเซลล์ไฟโบรบลาสต์จากผิวหนังหุ้มองคชาตของทารก (HFFs) ตรวจสอบคุณสมบัติของ HSFs ได้แก่ ลักษณะทางกายภาพ, ความสามารถในการแบ่งตัวโดย BrdU proliferation assay, การแสดงออกของ supportive feeder markers โดย q-PCR, วัดปริมาณการสร้าง bFGF โดย ELISA และทดสอบ colony forming unit assay (CFU) ทดลองใช้ HSFs เป็นเซลล์พี่เลี้ยงของ hPSCs (Chula2.hES, PFX#12) และตรวจสอบ hPSCs หลังการเลี้ยง 10 passages ได้แก่ ลักษณะทางกายภาพ, คุณสมบัติพลูริโพเทนต์โดย q-PCR, immunocytochemistry และ flow cytometry ตรวจสอบ karyotyping และ in vitro differentiation ผลพบว่า HSFs มีลักษณะทางกายภาพคล้ายกับ HFFs และมีสัดส่วนจำนวนเซลล์ที่ให้ผลบวกต่อ BrdU ต่อเซลล์ทั้งหมดสูงกว่า HFFs (P=0.006) มีการแสดงออกของยีน Activin A, bFGF, TGF-β1 ไม่แตกต่างกัน ส่วน HSFs มี BMP4, Collagen I, Fibronectin ต่ำกว่า HFFs (P<0.001) HSFs สร้าง bFGF ได้ 0.033 ng/ml ใน 24 ชั่วโมง ผล CFU พบว่าบน HSFs มีโคโลนีของ hPSCs น้อยกว่า HFFs (P=0.008) HSFs เป็นเซลล์พี่เลี้ยงที่สนับสนุนการเจริญของ hPSCs อย่างน้อย 10 passages ได้ โดย hPSCs ที่เลี้ยงบน HSFs มีลักษณะทางกายภาพคล้ายคลึงกับ hPSCs ที่เลี้ยงบน HFFs มี pluripotent และ differentiation marker ไม่แตกต่างกัน มีโครโมโซมปกติและเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเนื้อเยื่อ 3 ชั้นได้ จากผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า HSFs ใช้เป็นเซลล์พี่เลี้ยงของ hPSCs ได้ และ พบว่าเมื่อใช้ HSFs เป็นเซลล์พี่เลี้ยง สามารถเลี้ยง Chula2.hES ได้ โดยที่ไม่เติม bFGF ในน้ำยาเลี้ยงเซลล์ ดังนั้น HSFs สามารถใช้ในการเลี้ยง hPSCs ได้และมีแนวโน้มว่าสามารถเลี้ยง hPSCs ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องเติม bFGF ในน้ำยาเลี้ยงเซลล์