Abstract:
การฝึกปริชานปัญญาในผู้สูงอายุมีความสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงการเกิดภาวะสมองเสื่อม แต่ผลของการฝึกปริชานปัญญาโดยใช้คอมพิวเตอร์ประสมเชิงโต้ตอบนั้นยังไม่สามารถสรุปผลได้ การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการฝึกปริชานปัญญาในผู้สูงอายุในชุมชนโดยใช้เทคโนโลยีอย่างง่าย และออกแบบศึกษาเป็นการทดลองแบบกลุ่มและมีกลุ่มควบคุมชนิด 2 กลุ่มคู่ขนานแบบอำพรางทางเดียวโดยปกปิดผู้วัดผลลัพธ์ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาคลินิกที่ใช้ชุดทดสอบประสาทจิตวิทยา จุดวัดผลลัพธ์แรก (treatment effect) วัดผลการทำงานของปริชานปัญญาแบบองค์รวมใช้แบบทดสอบสมรรถภาพสมองของไทย (Thai Mental State Examination ;TMSE) ภายหลังจบการฝึก ณ สัปดาห์ที่ 12 (T1) และจุดวัดผลลัพธ์ที่สอง (carryover effect) ภายหลังจบการฝึก ณ สัปดาห์ที่ 24 (T2) ผลการศึกษา มีอาสาสมัคร 86 รายจากศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุเทศบาลนครนนทบุรีผ่านเกณฑ์คัดเข้าที่ต้องมีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป กลุ่มทดลองมีอายุเฉลี่ย 66.66±5.52 ปี และกลุ่มรายชื่อรอเรียกมีอายุเฉลี่ย 67.52±6.46 ปี ณ จุดเริ่มต้น (T0) กลุ่มทดลองและกลุ่มรายชื่อรอเรียกมีค่าเฉลี่ยคะแนน TMSE ใกล้เคียงกัน (28.84±1.38 และ 28.83±1.12 ตามลำดับ) และมีคุณภาพชีวิตในระดับดีและไม่มีภาวะซึมเศร้า ในกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยการเข้ารับการฝึกเท่ากับ 14.82±7.62 ครั้ง เมื่อวิเคราะห์ผลลัพธ์ด้วย intention-to-treat analysis ณ จุดวัดผลลัพธ์แรก พบว่า ค่าเฉลี่ยการเปลี่ยนแปลงคะแนน TMSE ในกลุ่มทดลองสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มรายชื่อรอเรียก (∆TMSEbetween group at T1-T0=0.57; 95%CI=0.07, 1.08) แต่ ณ จุดวัดผลลัพธ์ที่สอง ไม่พบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยการเปลี่ยนแปลงคะแนน TMSE ระหว่างสองกลุ่มนี้ (∆TMSEbetween group at T2-T0=0.33; 95%CI= -0.23, 0.88) และพบว่า ค่าเฉลี่ยการเปลี่ยนแปลงคะแนนการทำงานของปริชานปัญญารายด้านย่อย 8 ด้าน รวมทั้งคุณภาพชีวิตและภาวะซึมเศร้าของสองกลุ่มนี้ไม่แตกต่างกันทั้งจุดวัดผลลัพธ์แรกและที่สอง ซึ่งสรุปว่า การฝึกปริชานปัญญาในผู้สูงอายุไทยมีผลชนิด treatment effect อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อการทำงานของปริชานปัญญาแบบองค์รวม แต่ไม่พบผลชนิด carryover effect