Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเข้ากันได้ของฐานข้อมูลผู้ป่วยกลุ่มโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูงจากชุดข้อมูลมาตรฐาน 52 แฟ้ม นำมาใช้เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับตัวชี้วัด ICHOM มีรูปแบบการศึกษาแบบผสมผสาน (Mixed method research) คือการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยทำการศึกษาฐานข้อมูลตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2560 - กันยายน พ.ศ.2561 จากหน่วยบริการระดับปฐมภูมิ 2 แห่ง และการการสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง
ผลการศึกษาพบว่า ความเข้ากันได้ของฐานข้อมูลผู้ป่วยและแหล่งข้อมูลสำหรับตัวชี้วัด ICHOM ในกลุ่มโรคเบาหวานหน่วยบริการ A และหน่วยบริการ B มีความเข้ากันได้ 21 ตัวชี้วัดและ 33 ตัวชี้วัด หรือคิดเป็นร้อยละ 31.34 และ 49.25 ตามลำดับ ส่วนกลุ่มโรคความดันโลหิตสูงหน่วยบริการ A และหน่วยบริการ B มีความเข้ากันได้ 14 ตัวชี้วัดและ 18 ตัวชี้วัด หรือคิดเป็นร้อยละ 31.11 และ 40.00 ตามลำดับ และผลการสัมภาษณ์โดยรวมความคิดเห็นตัวชี้วัดที่ใช้ปัจจุบันของผู้ป่วย ได้ข้อสรุปว่ามีประโยชน์และเพียงพอแล้ว โดยมองในมุมผู้รับบริการเป็นหลักว่าฐานข้อมูลที่เก็บเพียงพอต่อบริการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค การรักษาพยาบาลเบื้องต้น และฟื้นฟูสภาพร่างกาย อีกทั้งในมุมของผู้ให้บริการเองมองเห็นว่าหากลดการบันทึกตัวชี้วัดที่ซ้ำซ้อนกับข้อมูลที่มีข้อมูลที่บันทึกประจำอยู่แล้ว จะลดภาระงาน และทำให้ตัวชี้วัดที่สำคัญมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
ชุดข้อมูลมาตรฐาน 52 แฟ้มไม่สามารถใช้ข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ตัวชี้วัด ICHOM ที่เป็นข้อมูลระยะยาวได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่พบความไม่เข้ากันกับชุดตัวชี้วัด ICHOM แต่ชุดตัวชี้วัด ICHOM เป็นเพียงเงื่อนไขเริ่มต้นและปัจจัยเพื่อให้สามารถปรับเลือกใช้ตามบริบทของประเทศ ภูมิภาค รวมถึงความแตกต่างของจำนวนผู้ป่วยและผู้ให้บริการ หากนำมาปรับใช้กับบริบทประเทศไทยอาจต้องปรับโครงสร้างข้อมูลมาตรฐาน 52 แฟ้มให้มีความครบถ้วนและถูกต้อง อีกทั้งควรมีเป้าหมายการนำไปใช้อย่างชัดเจน