Abstract:
ที่มา: การไหลของอากาศถูกจำกัดในช่วงหายใจออก คือภาวะที่ผู้ป่วยไม่สามารถเพิ่มอัตราการไหลของอากาศช่วงหายใจออกได้ แม้จะมีความแตกต่างของระดับความดันภายในหลอดลม ซึ่งสามารถพบได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะการหายใจล้มเหลวหลังการหย่าเครื่องช่วยหายใจได้ถึง 60% อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีข้อแนะนำหรือแนวทางการประเมินเพื่อหย่าเครื่องช่วยหายใจในผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างชัดเจน วัตถุประสงค์ของการศึกษา: เพื่อเปรียบเทียบอัตราการถอดท่อช่วยหายใจได้สำเร็จ และสามารถถอดท่อช่วยหายใจได้เป็นเวลาอย่างน้อย 72ชั่วโมง ในผู้ป่วยที่มีการไหลของอากาศถูกจำกัดในช่วงหายใจออก ระหว่างวิธีการทดสอบการหายใจด้วยแรงดันบวก (SBT with Pressure Support Ventilation) และวิธีการทดสอบการหายใจด้วยการให้ออกซิเจนผ่านท่อวงจรรูปตัวที (SBT with T-piece) วิธีศึกษา: การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม และไม่ด้อยกว่า โดยศึกษาในผู้ป่วยที่มีภาวะการหายใจล้มเหลวซึ่งได้รับการช่วยหายใจผ่านทางท่อช่วยหายใจเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง และเข้าได้กับเกณฑ์ความพร้อมเพื่อการหย่าเครื่องช่วยหายใจ ทำการสุ่มด้วยระบบคอมพิวเตอร์เพื่อแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ได้การทดสอบการหายใจด้วยแรงดันบวกในระยะเวลา 30 นาที และกลุ่มที่ได้การทดสอบการหายใจด้วยออกซิเจนผ่านท่อวงจรรูปตัวทีในระยะเวลา 30 นาที วัตถุประสงค์หลักของการศึกษานี้ คืออัตราการถอดท่อช่วยหายใจได้สำเร็จ และสามารถถอดท่อช่วยหายใจได้เป็นเวลาอย่างน้อย 72 ชั่วโมง และวัตถุประสงค์รองของการศึกษา ได้แก่ อัตราของภาวะการหายใจล้มเหลวหลังการถอดท่อช่วยหายใจในช่วง 7 วัน, ระยะเวลาที่ต้องมีการใส่ท่อช่วยหายใจซ้ำหลังการหย่าเครื่องช่วยหายใจและถอดท่อช่วยหายใจ, อัตราการผ่านขั้นตอนการทดสอบการหายใจ เป็นต้น ผลการศึกษา: ผู้ป่วยที่เข้าสู่การศึกษาทั้งสิ้น 99 ราย เป็นเพศชาย 50.5% มีค่ามัธยฐานของอายุที่ 70 [23] ปี และมีสาเหตุที่นำมาสู่ภาวะการหายใจล้มเหลวจากระบบทางเดินหายใจเป็นส่วนใหญ่ (68.7%) เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติแล้ว พบว่าอัตราการหย่าเครื่องช่วยหายใจและถอดท่อช่วยหายใจได้สำเร็จเป็นเวลาอย่างน้อย 72 ชั่วโมงของกลุ่มที่ได้การทดสอบการหายใจด้วยแรงดันบวก ไม่ด้อยกว่ากลุ่มที่ได้การทดสอบการหายใจด้วยออกซิเจนผ่านท่อวงจรรูปตัวที คิดเป็น 82% และ 81.63% ตามลำดับ (95%CI -0.148 to 0.156, p=0.0475) รวมถึงอัตราการผ่านขั้นตอนการทดสอบการหายใจ (96% และ 93.9% ตามลำดับ; 95%CI -0.065 to 0.108, p<0.001) พบว่าไม่ด้อยกว่าด้วยเช่นกัน ส่วนอัตราของภาวะการหายใจล้มเหลวหลังการถอดท่อช่วยหายใจในช่วง 7 วันของกลุ่มที่ได้การทดสอบการหายใจด้วยแรงดันบวก และกลุ่มที่ได้การทดสอบการหายใจด้วยออกซิเจนผ่านท่อวงจรรูปตัวที พบว่าไม่สามารถสรุปผลได้ (22.9% และ 15.2% ตามลำดับ; 95%CI -0.081 to 0.235, p=0.369) นอกจากนี้ยังไม่มีความแตกต่างทางสถิติของระยะเวลาที่ต้องมีการใส่ท่อช่วยหายใจซ้ำหลังการหย่าเครื่องช่วยหายใจและถอดท่อช่วยหายใจอีกด้วย (55 [95.5] ชั่วโมง และ 25.33 [48] ชั่วโมงตามลำดับ, p=0.683) สรุป: อัตราการหย่าเครื่องช่วยหายใจและถอดท่อช่วยหายใจได้สำเร็จ ด้วยวิธีการทดสอบการหายใจด้วยแรงดันบวก ไม่ด้อยกว่าการทดสอบการหายใจด้วยออกซิเจนผ่านท่อวงจรรูปตัวทีในผู้ป่วยที่มีการไหลของอากาศถูกจำกัดในช่วงหายใจออก และการศึกษานี้ยังเป็นการศึกษาแรกที่แสดงถึงความไม่แตกต่างของผลการทดสอบการหายใจระหว่าง 2 วิธีดังกล่าว ในแง่ของอัตราการหย่าเครื่องช่วยหายใจและถอดท่อช่วยหายใจสำเร็จในผู้ป่วยที่มีภาวะการไหลของอากาศถูกจำกัดในช่วงหายใจออกนี้