Abstract:
ที่มา: กลไกการดื้อยาต้านอีจีเอฟอาร์ไทโรซีนไคเนสรุ่นที่หนึ่งหรือสองในผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิดเซลล์ที่ขนาดไม่เล็กที่มีการกลายพันธุ์ของยีนอีจีเอฟอาร์ที่พบได้บ่อยที่สุดคือการกลายพันธุ์ของยีนอีจีเอฟอาร์ชนิดทุติยภูมิแบบ T790M แต่ในปัจจุบันยังไม่มีปัจจัยที่แน่ชัดที่สามารถทำนายการเกิดการกลายพันธุ์ของยีนอีจีเอฟอาร์ชนิดทุติยภูมิแบบ T790M วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาว่ามีปัจจัยใดหรือไม่ที่สัมพันธ์กับการกลายพันธุ์ของยีนอีจีเอฟอาร์ชนิดทุติยภูมิแบบ T790M ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาแบบย้อนหลังในผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิดเซลล์ที่ขนาดไม่เล็กที่มีการกลายพันธุ์ปฐมภูมิของยีนอีจีเอฟอาร์ชนิด exon 19 deletion หรือ L858R mutation และมีการดำเนินโรคมากขึ้นภายหลังที่ได้รับยาต้านอีจีเอฟอาร์ไทโรซีนไคเนสรุ่นที่หนึ่งหรือรุ่นที่สอง โดยมีตัวชี้วัดปฐมภูมิคือความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางคลินิกกับการกลายพันธุ์ของยีนอีจีเอฟอาร์ชนิดทุติยภูมิแบบ T790M ผลการศึกษา: ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ถึง เดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 มีผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การศึกษาวิจัยทั้งหมด 207 ราย ตรวจพบการกลายพันธุ์ของยีนอีจีเอฟอาร์ชนิดทุติยภูมิแบบ T790M ในผู้ป่วยร้อยละ 66.7 ผู้ป่วยมีอายุเฉลี่ย 64 ปี เป็นเพศหญิงร้อยละ 67.6 และเป็นมะเร็งปอดชนิดอะดีโนร้อยละ 95.2 ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการกลายพันธุ์ของยีนอีจีเอฟอาร์ชนิดทุติยภูมิแบบ T790M อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจากการวิเคราะห์ข้อมูลแบบตัวแปรเดียว ได้แก่ การตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาต้านอีจีเอฟอาร์ไทโรซีนไคเนส (OR 2.74, p = 0.006) และระยะเวลาปลอดการลุกลามโรคของการรักษาด้วยยาต้านอีจีเอฟอาร์ไทโรซีนไคเนสมากกว่าหรือเท่ากับ 6 เดือน (OR 3.71, p = 0.001) เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลแบบพหุตัวแปรพบว่า ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการกลายพันธุ์ของยีนอีจีเอฟอาร์ชนิดทุติยภูมิแบบ T790M อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ การตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาต้านอีจีเอฟอาร์ไทโรซีนไคเนส (OR 2.61, p = 0.009) อัตราการรอดชีวิตรวมในกลุ่มที่มีและไม่มีการกลายพันธุ์ของยีนอีจีเอฟอาร์ชนิดทุติยภูมิแบบ T790M เท่ากับ 41.9 เดือนและ 20.1 เดือนตามลำดับ (log rank p-value < 0.001)
สรุปผลการศึกษา: การตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาต้านอีจีเอฟอาร์ไทโรซีนไคเนสเป็นปัจจัยที่สัมพันธ์กับการกลายพันธุ์ของยีนอีจีเอฟอาร์ชนิดทุติยภูมิแบบ T790M อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิดเซลล์ที่ขนาดไม่เล็กที่มีการกลายพันธุ์ของยีนอีจีเอฟอาร์ และมีการดำเนินโรคมากขึ้นภายหลังที่ได้รับยาต้านอีจีเอฟอาร์ไทโรซีนไคเนสรุ่นที่หนึ่งหรือรุ่นที่สอง