Abstract:
ที่มา: จากการพัฒนาศักยภาพของยาต้านไวรัสเอชไอวีจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้อัตราการตายของประชากรเอชไอวีทั่วโลกลดลงเช่นเดียวกับประชากรเอชไอวีในประเทศไทย ส่งผลให้ประชากรเอชไอวีมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้นและใกล้เคียงกับประชากรทั่วไป สิ่งที่ตามมาก็คือปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดรวมทั้งความผิดปกติของโครงสร้างและการทำงานของหัวใจที่มากขึ้นในประชากรกลุ่มนี้ การประเมินการทำงานหัวใจห้องล่างซ้ายโดยใช้การวิเคราะห์ global longitudinal strain (LVGLS) ช่วยให้พบความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายในระยะต้นก่อนมีอาการแสดงทางโรคหัวใจและหลอดเลือดและก่อนการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขณะพักทั่วไป แต่ยังมีข้อมูลจำกัดในการศึกษาในกลุ่มประชากรเอชไอวีในประเทศไทยที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสจนควบคุมระดับไวรัสในกระแสเลือดได้
วิธีการวิจัย: การศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบตัดขวาง ในผู้ป่วยเอชไอวีอายุมากกว่า 50 ปี ที่ได้รับยาต้านไวรัสจนควบคุมระดับไวรัสในกระแสเลือดได้จากการศึกษา ECHO-THAI-HAART study โดยปราศจากปัจจัยเสี่ยงและการวินิจฉัยทางด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้รับการตรวจ LVGLS โดยเปรียบเทียบกับประชากรทั่วไปที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวีที่มีเพศและอายุคล้ายคลึงกัน นอกจากนั้นประชากรทั้งสองกลุ่มก็ได้รับการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขณะพัก ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และผลการตรวจที่แสดงถึงภาวะโรคหลอดเลือดแดงแข็ง เช่น cardio-ankle vascular index (CAVI), ankle-brachial index (ABI), coronary artery calcium score (CAC).
ผลการศึกษา: ประชากรเข้าร่วมการศึกษาจำนวน 150 รายแบ่งเป็นประชากรกลุ่มเอชไอวี จำนวน 90 ราย และประชากรทั่วไปที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวี จำนวน 60 ราย โดยประชากรกลุ่มเอชไอวีมีอายุเฉลี่ย 54 ปี มีค่ากลางระยะเวลาที่ได้รับการวินิจฉัยเอชไอวีอยู่ที่ 18 ปี ระยะเวลาที่ได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีอยู่ที่ 15 ปี และมีค่าเฉลี่ย CD4 T-cell อยู่ที่ 651 เซลล์/ลูกบาศก์เมตร ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ของการวิเคราะห์ LVGLS ระหว่างประชากรทั้งสองกลุ่ม (ประชากรกลุ่มเอชไอวี -20.3% และ ประชากรทั่วไปที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวี -21.2%, p-value = 0.11) การวิเคราะห์ข้อมูลแบบตัวแปรเดียวและตัวแปรรวมพบว่าการลดลงของ LVGLS สัมพันธ์กับค่าความดันไดแอสโตลิกที่เพิ่มขึ้น (r = 0.244, p-value = 0.029) และค่า ABI ที่ลดลง (r = -0.161, p-value = 0.044) และผลการตรวจค่าหลอดเลือดแดงแข็งไม่ว่าจะเป็น ABI, CAVI, CACS ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในประชากรทั้งสองกลุ่ม
สรุป: ประชากรเอชไอวีที่ได้รับยาต้านไวรัสจนควบคุมระดับไวรัสในกระแสเลือดได้และปราศจากปัจจัยเสี่ยงและการวินิจฉัยโรคหัวใจและหลอดเลือด ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของความผิดปกติกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายในระยะต้นก่อนแสดงอาการเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรทั่วไปที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวี