Abstract:
ที่มาของการศึกษา ตามแนวทางปฏิบัติของสมาคมแพทย์ทางเดินอาหารประเทศอังกฤษ ในการวินิจฉัยและการจัดการผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งกระเพาะอาหารปี 2562 แนะนำให้ตัดชิ้นเนื้อตาม ซิดนีย์โปรโตคอล รวมทั้งหมด 5 ชิ้น เพื่อวินิจฉัยภาวะเยื่อบุกระเพาะอาหารกลายเป็นเยื่อบุลำไส้เป็นบริเวณกว้าง อย่างไรก็ตามการตัดชิ้นเนื้อแบบเฉพาะเจาะจงด้วยกล้องแนโรวแบนด์ อย่างเดียว น่าจะเพียงพอที่จะวินิจฉัยภาวะเยื่อบุกระเพาะอาหารกลายเป็นเยื่อบุลำไส้เป็นบริเวณกว้างโดยปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบของทั้งสองวิธีนี้
วิธีการศึกษา ผู้ป่วยที่มีภาวะเยื่อบุกระเพาะอาหารกลายเป็นเยื่อบุลำไส้ ใน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตั้งแต่ พฤศจิกายน 2562 จนถึง ตุลาคม 2563 ส่องกล้องโดยแพทย์ที่ไม่ใช่ผู้เชียวชาญในการใช้กล้องแนโรวแบนด์ ทำการส่องกล้องและตัดชิ้นเนื้อแบบเฉพาะเจาะจงด้วยกล้องแนโรวแบนด์ อย่างเดียว หรือ ตัดชิ้นเนื้อแบบสุ่ม ( ถ้าไม่พบ ภาวะเยื่อบุกระเพาะอาหารกลายเป็นเยื่อบุลำไส้จากการใช้กล้องแนโรวแบนด์ ) รวมทั้งหมด 5 จุด ตามซิดนีย์โปรโตคอล
ผลการศึกษา รวบรวมข้อมูลทั้งหมด 95 ราย เพศชาย 50 ราย (ร้อยละ 52.6) มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 64.7 ± 10.8 ปี พบภาวะเยื่อบุกระเพาะอาหารกลายเป็นเยื่อบุลำไสเป็นบริเวณกว้าง 43 ราย (ร้อยละ 45.3) ค่าความไว ความจำเพาะ พยากรณ์ผลบวก และ พยากรณ์ผลลบ ของการส่องกล้องและตัดชิ้นเนื้อแบบเฉพาะเจาะจงด้วยกล้องแนโรวแบนด์ อย่างเดียว เปรียบเทียบกับ ตัดชิ้นเนื้อตามซิดนีย์โปรโตคอล ร้อยละ 88.4 เทียบกับ ร้อยละ100, ร้อยละ 90.3 เทียบกับ ร้อยละ 90.3, ร้อยละ 88.4 เทียบกับ ร้อยละ 89.6 และ ร้อยละ 90.3 เทียบกับร้อยละ 100 ตามลำดับ และการตัดชิ้นเนื้อแบบเฉพาะเจาะจงด้วยกล้องแนโรวแบนด์อย่างเดียว ใช้จำนวนชิ้นเนื้อน้อยว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (311เทียบกับ 475, p<0.001) และพบว่าแพทย์ที่ไม่ใช้ผู้เชียวชาญในการใช้กล้องแนโรวแบนด์สามารถมีความไวในการวินิจฉัยภาวะเยื่อบุกระเพาะอาหารกลายเป็นเยื่อบุลำไสเป็นบริเวณกว้าง ได้ร้อยละ100 เมื่อทำการตรวจชิ้นเนื้อด้วยกล้องแนโรวแบนด์ในผู้ป่วย มากกว่า 60ราย
สรุป การตัดชิ้นเนื้อแบบเฉพาะเจาะจงด้วยกล้องแนโรวแบนด์อย่างเดียว โดยแพทย์ที่ไม่ใช่ผู้เชียวชาญในการใช้กล้องแนโรวแบนด์ นั้น ให้ค่าความไวที่น้อยว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการตัดชิ้นเนื้อตาม ซิดนีย์โปรโตคอล แต่อย่างไรก็ตามเมื่อทำการส่องกล้องมากกว่า 60 ราย จะให้ความไวที่ร้อยละ 100 เทียบเท่ากันในทั้งสองวิธี โดยที่การตัดชิ้นเนื้อแบบเฉพาะเจาะจงด้วยกล้องแนโรวแบนด์ อย่างเดียว ใช้จำนวนชิ้นเนื้อน้อยว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในการวินิจฉัย ภาวะเยื่อบุกระเพาะอาหารกลายเป็นเยื่อบุลำไส้เป็นบริเวณกว้าง