Abstract:
วัตถุประสงค์: การศึกษานี้มีเป้าหมายเพื่อศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างความแปรผันหลากหลายทางพันธุกรรมของยีนตัวรับวิตามินดีกับระยะของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังโดยแบ่งเป็นระยะพาหะชนิดเชื้อน้อย และระยะตับอักเสบเรื้อรัง
วิธีการศึกษา: การศึกษารวบรวมผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง โดยแบ่งเป็นกลุ่มเปรียบเทียบ 2 กลุ่มคือ กลุ่มระยะพาหะชนิดเชื้อน้อยที่มี HBV DNA ในเลือด< 2,000 IU/ml และกลุ่มระยะตับอักเสบเรื้อรังที่มี HBV DNA ในเลือด ≥ 2,000 IU/ml และระดับ ALT ในเลือด > 40 IU/ml หรือพบหลักฐานการอักเสบหรือพังผืดในตับ ผู้ทำการวิจัยทำการศึกษา SNP ของยีนตัวรับวิตามินดีจำนวน 6 ตำแหน่ง คือ CdX-2, GATA, FokI, Bsml, ApaI และ TaqI ตรวจโดยใช้ TaqMan real-time polymerase chain reaction (PCR) assay เพื่อศึกษาความแตกต่างของอัลลีล จีโนไทป์ และ haplotype ของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังระยะพาหะชนิดเชื้อน้อยและระยะตับอักเสบเรื้อรัง รวมถึง linkage disequilibrium (LD) mapping ได้รับการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย haplotype inference application
ผลการศึกษา: การศึกษารวบรวมผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง 324 คนช่วงเดือน กุมภาพันธ์ถึงสิงหาคม พ.ศ.2563 แบ่งเป็นกลุ่มระยะพาหะชนิดเชื้อ 163 คน และกลุ่มระยะตับอักเสบเรื้อรัง 161 คน สัดส่วนของผู้ป่วยเพศชายในผู้ป่วยกลุ่มระยะพาหะชนิดเชื้อน้อยน้อยกว่ากลุ่มระยะตับอักเสบเรื้อรังอย่างมีนัยยะสำคัญที่ร้อยละ 46.0 ต่อร้อยละ 68.3 (p < 0.001) ค่าเฉลี่ยระดับวิตามินดีในแต่ละกลุ่มไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ สัดส่วนความถี่อัลลีล CdX-2 ในกลุ่มระยะพาหะชนิดเชื้อน้อยและกลุ่มระยะตับอักเสบเรื้อรังของอัลลีล G (G allele) คิดเป็นร้อยละ 53.7 และ 62.7 ตามลำดับ สัดส่วนของอัลลีล A (A allele) คิดเป็นร้อยละ 46.3 และ 37.3 ตามลำดับโดยแตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ (p 0.019) สัดส่วนความถี่จีโนไทป์ CdX-2 พบ G/G จีโนไทป์ในกลุ่มระยะพาหะชนิดเชื้อน้อยน้อยกว่ากลุ่มระยะตับอักเสบเรื้อรัง โดยพบร้อยละ 27.0 และ 41.0 ตามลำดับ (p 0.028) AA haplotype ของ CdX-2/GATA และ AAC haplotype ของ CdX-2/GATA/FokI สัมพันธ์กับกลุ่มระยะพาหะชนิดเชื้อน้อยอย่างมีนัยยะสำคัญโดยมีอัตราส่วนออด 1.43 (1.04-1.96), p 0.025 และ 1.98 (1.34-2.91), p < 0.0019 ตามลำดับ จากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์แบบหลายตัวแปรพบว่า G/A จีโนไทป์ของ Cdx-2 เป็นปัจจัยที่สัมพันธ์ระยะพาหะชนิดเชื้อน้อยอย่างมีนัยยะสำคัญโดยมีอัตราส่วนออดที่ปรับแล้ว 1.83 (95%CI 1.10 – 3.04) จาก Linkage disequilibrium (LD) triangular mapping พบว่า BsmI, ApaI และ TaqI มีค่าคะแนน LD (LD’score) สูง (D’ > 0.8) ทั้งในทั้งสองระยะ ในขณะที่ CdX-2/GATA และ GATA/FokI พบคะแนน LD สูงเฉพาะในกลุ่มระยะตับอักเสบเรื้อรัง
สรุปผล: G/A จีโนไทป์ของ CdX-2 สัมพันธ์กับระยะพาหะชนิดเชื้อน้อยในผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังชาวไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ นอกจากนี้การศึกษาพบความแตกต่างของ LD ของ CdX-2/GATA และ GATA/FokI ในกลุ่มระยะพาหะชนิดเชื้อน้อยและกลุ่มระยะตับอักเสบเรื้อรัง ซึ่งเป็นไปได้ว่าความแตกต่างของความหลากหลายของยีนตัวรับวิตามินดีนี้นำไปสู่ความแตกต่างของการควบคุมระบบภูมิคุ้มกัน