Abstract:
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการติดโซเชียลมีเดีย ความภาคภูมิใจในตนเอง และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ในนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อำเภอหาดใหญ่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 16 จำนวน 415 คน ตอบแบบสอบถาม ประกอบด้วย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลและพฤติกรรมการใช้โซเชียลมมีเดีย, แบบทดสอบการติดโซเชียลมีเดีย (Social media addiction test: SMAT), แบบวัดความภาคภูมิใจในตนเองของโรเซนเบิร์กฉบับปรับปรุง(The Revised version of Thai Rosenberg Self Esteem Scale: Revised Thai RSES), แบบประเมินคุณภาพการนอนหลับ ฉบับภาษาไทย (Thai version of the Pittsburgh Sleep Quality Index, T PSQI), แบบวัดแบบวัดภาวะซึมเศร้า Center for Epidemiological Studies Depression Scale (CES D) ฉบับภาษาไทย
ผลการศึกษาพบว่า จากนักเรียนทั้งหมดร้อยละ 15.7 มีภาวะติดโซเชียลมีเดีย และกลุ่มนักเรียนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.7 มีความภาคภูมิใจอยู่ระดับปานกลาง, ร้อยละ 21.4 อยู่ในระดับต่ำและร้อยละ 16.9 อยู่ในระดับสูง ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการติดโซเชียลมีเดียอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ < .05 ได้แก่ การใช้ อินสตาแกรม ภาวะซึมเศร้า คุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดี ระยะเวลาที่ใช้โซเชียลมีเดียในวันธรรมดาและวันหยุด ในขณะที่ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความภาคภูมิใจในตนเองต่ำได้แก่ อายุที่ ≤ 17 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับบิดาแบบขัดแย้ง ภาวะซึมเศร้า คุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดี และพบว่าพฤติกรรมการติดโซเชียลมีเดียมีความสัมพันธ์ทางลบกับความภาคภูมิใจในตนเอง
1 ใน 6 ของกลุ่มตัวอย่างจากการศึกษานี้มีภาวะติดโซเชียลมีเดีย ซึ่งผู้ที่ติดโซเชียลมีเดียพบว่ามีโอกาสมีระดับความภาคภูมิใจในตนเองต่ำและมีภาวะซึมเศร้ามากกว่า ดังนั้นนักเรียนที่มีความเสี่ยงควรได้รับการคัดกรองภาวะซึมเศร้า และผู้ที่เกี่ยวข้องควรให้การส่งเสริมและป้องกันเพื่อให้นักเรียนมีระดับภาคภูมิใจที่ดี และมีการใช้โซเชียลมีเดียลดลง