Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาอิทธิพลของปัจจัยส่วนบุคคล ความผูกพันต่อองค์การ และคุณภาพชีวิตการทำงานที่มีต่อการคงอยู่ในงานของข้าราชการตำรวจกองทะเบียนพล และเพื่อเสนอแนะแนวทางในการกำหนดนโยบายของผู้บังคับบัญชาในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในการทำงานของข้าราชการตำรวจของกองทะเบียนพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ดีขึ้น การวิจัยเป็นการวิจัยแบบผสม (Mixed Method) โดยใช้แบบสอบถามในการเก็บข้อมูลจากประชากร ข้าราชการตำรวจกองทะเบียนพล จํานวน 132 คน ได้แบบสอบถามครบถ้วนสมบูรณ์ 132 ชุด สําหรับการวิจัยเชิงคุณภาพ ดําเนินการโดยใช้การสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว (Face-to-Face) ผ่านแบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง (Semi-structured- Selection Interview) วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้สถิติการวิเคราะห์การถดถอยเชิงพหุคูณ (Multiple Linear Regression) และสถิติ Independent T-Test กับ One Way ANOVA ผลการวิจัยเชิงปริมาณ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมีระดับความคิดเห็นต่อความผูกพันต่อองค์การ คุณภาพชีวิตการทำงาน และปัจจัยที่มีต่อการคงอยู่ในงานอยู่ในระดับ “มาก” เมื่อศึกษาความผูกพันต่อองค์การที่มีอิทธิพลต่อการคงอยู่ในงานของข้าราชการตำรวจกองทะเบียนพลด้วยการวิเคราะห์การถดถอยเชิงพหุคูณ (Multiple Linear Regression) พบว่าปัจจัยด้านบรรทัดฐาน ส่งผลต่อการคงอยู่ในงาน และเมื่อศึกษาคุณภาพชีวิตการทำงานที่มีอิทธิพลต่อการคงอยู่ในงานของข้าราชการตำรวจกองทะเบียนพล พบว่า ความมั่นคงในหน้าที่ การพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ความสัมพันธ์ทางสังคม การบริหารองค์การของผู้บังคับบัญชา และความภูมิใจต่อความรับผิดชอบขององค์การ ส่งผลต่อการคงอยู่ในงาน นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของข้าราชการตำรวจ พบว่า ข้าราชการตำรวจที่มีปัจจัยส่วนบุคคลด้านเพศ อายุ สถานภาพ ระดับการศึกษา อายุราชการ ระดับรายได้เฉลี่ยต่อเดือน และสังกัดที่ต่างกันมีความคิดเห็นต่อการคงอยู่ในงานไม่แตกต่างกัน ผลการวิจัยเชิงคุณภาพพบว่า สิ่งจูงใจในการทำงานที่ส่งผลให้ข้าราชการตำรวจกองทะเบียนพลตั้งใจคงอยู่ในงานต่อไปโดยไม่คิดจะลาออก ได้แก่ ต้องการความสมดุลในชีวิตการทำงานและชีวิตด้านอื่น ๆ โดยลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ต้องการงานที่ท้าทายเพื่อความก้าวหน้า ความสำเร็จ และการได้รับการยอมรับทั้งระบบบุคคล องค์การและสากล ต้องการรางวัลและค่าตอบแทนทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงินที่เหมาะสมและเป็นธรรม ต้องการสัมพันธภาพที่ดีจากหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงาน และต้องการเรียนรู้และพัฒนาในส่วนที่สอดคล้องกับงานในสายอาชีพรวมถึงการพัฒนาความฉลาดรอบด้าน ทั้งนี้ ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะว่าหน่วยงานควรพัฒนาความผูกพันต่อองค์การ และคุณภาพชีวิตการทำงานที่ส่งผลต่อการคงอยู่ในงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยงานให้เพิ่มขึ้นและนําผลจากการวิจัยมาประยุกต์ใช้ในการวางแผนรักษาบุคลากรให้คงอยู่ในงานต่อไป